ข่าวแจกกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

เรื่อง : กรมสุขภาพจิตแนะประชาชนดึงพลัง อึด ฮึด สู้ ฝ่าวิกฤตโควิด-19

เปิดอ่าน: 1633

วันที่: 22 April 2563

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาความเครียดวิตกกังวลจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประชาชนในขณะนี้ ซึ่งได้แบ่งศึกษา ในกลุ่ม 1.ผู้ถูกกักกัน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 , 2.กลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต 3.บุคลากรทางการแพทย์ และ 4.ประชาชนทั่วไป /ชุมชน พบว่า ทุกกลุ่มมีความเครียด โดยเฉพาะการถูกตีตราจากสังคม เช่น การรังเกียจผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว , พยาบาลถูกปฏิเสธไม่ขายของให้เมื่อผู้ค้าเห็นใส่ชุดปฏิบัติงาน โดยหากประชาชนมีความเครียดสะสมไปนานๆ จะเกิดเป็นโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ เช่น ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีรายงานอัตราการฆ่าตัวตาย 2 ต่อแสนคน หรือ 2 คนต่อวัน อีกทั้ง การถูกตีตราจากสังคม เพื่อป้องกันภาวะนี้ จะมีการให้ อสม.ร่วมออกไปเคาะประตูบ้านเพื่อสำรวจสุขภาพจิตประชาชน นำกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบการดูแลช่วยเหลือและรักษา ส่วนสมาชิกในครอบครัวและชุมชน สามารถช่วยจัดการปัญหาสุขภาพจิตได้ ด้วยการเร่งช่วยกันวัคซีนใจ โดยต้องทำให้เกิดความสงบสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกต้อง,การทำให้เกิดปลอดภัย โดยดูแลสุขอนามัยส่วนตัวสมาชิกในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและไม่นำเชื้อโรคเข้าบ้าน รวมทั้งการสร้างให้สมาชิกในบ้านและชุมชนมีความหวัง เนื่องจากประชาชน อาจหวั่นวิตกจากมาตรการจำกัดต่างๆ และการทำให้มีการสื่อสารระหว่างกัน แม้ว่าทางกายภาพจะห่างไกลกัน รวมทั้งยังได้จัดทำแอปพลิเคชัน “Mental health check up” ไว้ตรวจสอบสุขภาพจิตทั้ง 6 ด้าน ได้เอง เพื่อใช้ดูแลตัวเองในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้คนไทยดึงพลัง “อึด ฮึด สู้” ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้จะสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ แต่หากใครรู้สึกพลังหมด เครียดไปต่อไม่ไหว และมีสัญญาณที่บ่งบอก 3 ด้าน คือ ด้านร่างกายนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตื่นเต้นตกใจง่าย ปวดศีรษะ ความดันสูง ด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย มีความเครียดรู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว ท้อแท้ ซึมเศร้า ด้านพฤติกรรมมี ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างลดน้อยลง มีความก้าวร้าวมากขึ้น อดทนต่อสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง ขออย่าเก็บไว้คนเดียวให้หาคนปรึกษาหรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สำหรับการใช้พลัง“อึด ฮึด สู้” (Resilience) มีแนวทางคือ พลัง “อึด” คือ การทนต่อแรงกดดันสามารถสร้างได้ด้วยการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้ดี รู้จักปรับอารมณ์ปรับความคิด คิดในเชิงบวกไม่ท้อถอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่วนพลัง“ฮึด” คือพลังที่เมื่อเจอแรงกดดัน หรือเจอสถานการณ์ลำบากแล้วสามารถมีแรงใจที่จะลุกขึ้นมาใหม่ สามารถสร้างได้จากการเพิ่มศรัทธาในชีวิต โดยมองว่าชีวิตยังมีความหวัง ถ้าเรารู้สึกไม่ไหวให้หาคนที่เราไว้ใจช่วย และที่สำคัญคือต้องมีกำลังใจซึ่งแต่ละคนสร้างและหาได้ทั้งสร้างกำลังใจด้วยตัวเองกำลังใจจากครอบครัวและกำลังใจจากสังคมซึ่งประเทศไทยมีให้กันตลอดเวลา ส่วนพลัง “สู้” เป็นพลังเสริมจากพลังฮึด เป็นพลังเอาชนะอุปสรรคต่างๆสามารถสร้างได้ด้วยการปรับเป้าหมาย ปรับการกระทำ ปรับพฤติกรรม ให้หาทำอะไรในสิ่งที่พอทำได้ให้ทำไปก่อน อย่างไปคาดหวังมากจนเกินไป และควรปรับเป้าหมายชีวิตให้เล็กลง เพื่อให้ยืนอยู่และผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์ไปได้ ทั้งนี้จากหลายเหตุการณ์วิกฤติที่ผ่านมา คนไทยสามารถดึงพลังนี้ออกมาใช้ทำให้สามารถปรับตัวกับสถานการณ์และสามารถจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี ที่มา : https://news.ch7.com/