ข่าวแจกกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

เรื่อง : กรมสุขภาพจิต มอบ “วัคซีนใจ”เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเพื่อป้องกัน COVID-19 พร้อมเชื่อมั่นพลัง อึด ฮึด สู้ของคนไทยจะทำให้ผ่านสถานการณ์ ไปได้

เปิดอ่าน: 704

วันที่: 29 December 2563

กรมสุขภาพจิต ระบุปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ควบคุม COVID-19 ที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไขเร่งด่วนขณะนี้คือความตื่นตระหนกของประชาชน หากไม่สามารถจัดการได้ดีจะนำไปสู่ปัญหาความตึงเครียด การรับข้อมูลที่แยกแยะยาก จนเกิดการปะติดปะต่อข้อมูลเอง และความพยายามหาคนผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเคียดแค้น ก้าวร้าว และการบูลลี่ แนะวิธีสำรวจตนเองด้วยโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN ก่อนจะเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม วานนี้ (25 ธันวาคม 2563) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตมีการติดตามเฝ้าระวังสภาวะด้านอารมณ์ จิตใจของประชาชน เพื่อนำผลมาวางแผนจัดบริการ และให้ความรู้กับประชาชนอย่างทันสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง และนับตั้งแต่การพบผู้ป่วยครั้งแรกในรอบ การระบาดใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 จนกระทั่งถึงที่สมุทรสาคร การระบาดได้แพร่กระจายในวงกว้าง กรมสุขภาพจิตพบสัญญาณการตื่นตระหนกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถจัดการได้ดีจะนำไปสู่ปัญหาความตึงเครียด การรับข้อมูลที่แยกแยะยากเกิดการปะติดปะต่อข้อมูลเอง และ ความพยายามหาคนผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเคียดแค้น ก้าวร้าว และการบูลลี่ แนะสำรวจตนเองด้วยด้วยโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN ก่อนจะเกิดพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล นอกจากสัญญาณดังกล่าว กรมสุขภาพจิตยังพบสัญญาณที่ดีซึ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้คนไทยได้รับคำชื่นชมในช่วงการระบาด ที่ผ่านมา คือสัญญาณของพลัง อึด ฮึด สู้ พร้อมปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ ยืดหยุ่นตัวเองให้เกิดการปรับตัวที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี จึงเชื่อมั่นว่าคนไทยจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน สำหรับปัญหาความเครียดที่พบมากมักเกิดจากสาเหตุกลัวติดโรค เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลที่มากมายหลากหลาย การเปิดรับฟังข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้นจนเกิดความอ่อนล้าทางใจ และเกิดความไม่มั่นคง ทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและยังไม่เกิดขึ้น การรับข้อมูลที่เพิ่มจำนวนขึ้น การป้องกันความเครียดในสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องทำต่อเนื่อง คือ การลดการรับข้อมูลข่าวสารให้น้อยลง การจัดการในการป้องกันตัวเอง ซึ่งยืนยันว่าสามารถป้องกันโรคได้จริงจากการระบาด รอบที่ผ่านมา คือ การสวมหน้ากาก การหมั่นล้างมือ การเว้นระยะห่าง นอกจากนี้การป้องกันที่ทุกคนทำได้ คือการลดความเสี่ยง เช่น ลดการพบปะผู้คนมากๆ การจัดการกับพื้นที่โดยการรักษาความสะอาด นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยรายละเอียดการติดตามเฝ้าระวังสภาวะด้านอารมณ์จิตใจของประชาชนในรอบ 1 ปี COVID-19 ว่า ผลการสำรวจบ่งชี้ภาวะด้านอารมณ์จิตใจของประชาชนไทยขึ้นลงตามสถานการณ์ ส่วนภาวะความตื่นตระหนก พบสูงในช่วงการตรวจพบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และในช่วงหลังพบผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกทม. อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพลังใจ อึด ฮึด สู้ และการปฏิบัติตัวของคนไทย ซึ่งเป็นวัคซีนใจป้องกัน COVID-19 พบว่ายังคงอยู่ในระดับสูง คือร้อยละ 90 ขึ้นไป นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิตและโฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยมาตรการดำเนินงานของกรมสุขภาพจิต ปี 2564 ว่า ได้แบ่ง กลุ่มเป้าหมายเป็น 5 กลุ่ม และแบ่งพื้นที่ดำเนินงาน 4 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่ม 1) ผู้กักกัน/ผู้ติดเชื้อ 2) บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน COVID-19 3) ประชาชน/บุคคลทั่วไป/ชุมชน 4) กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และ 5) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ พื้นที่ 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก 2) พื้นที่ควบคุมมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3) พื้นที่เฝ้าระวังสูงมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย ควบคุมสถานการณ์ได้ และ 4) พื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ โดยการดำเนินงานเร่งด่วนในพื้นที่ 5 จังหวัดควบคุม ได้แก่ ใน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กรมสุขภาพจิตจะส่งทีมลงให้คำแนะนำเพื่อให้ อสต.(อาสาสมัครต่างด้าว) เพื่อค้นหา เฝ้าระวัง ให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น กรณีพบปัญหาสุขภาพจิตที่เกินศักยภาพ ส่งต่อกับบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบในพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยผ่านเครือข่ายสื่อในพื้นที่ กลุ่มประชาชนทั่วไป เพิ่มการเข้าถึงการประเมินสุขภาพจิตตนเอง การจัดหน่วยให้บริการในพื้นที่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงการประเมินสุขภาพจิตตนเอง และบริการ Hotline สายด่วนสุขภาพจิตสำหรับบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งกิจกรรมการดูแลจิตใจบุคลากร กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ/ญาติ/ผู้กักตัว สถานพยาบาลจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยแพทย์ ทางกาย ทั้งโดยในทุกกลุ่มจะมุ่งเน้นการประเมินสุขภาพจิตตนเอง ด้วยโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN สุดท้ายกรมสุขภาพจิต ย้ำผลการศึกษาที่สร้างความมั่นใจว่าพลัง อึด ฮึด สู้ของคนไทยยังมีพลังที่จะทำให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการช่วยลดปัญหาสุขภาพจิต COVID-19 ช่วยลดความตื่นตระหนก ลดการบูลลี่ในพื้นที่ด้วยการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคอย่างถูกต้อง พร้อมแสดงความห่วงใยไปถึงพี่น้องประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องต่อสู้กับวิกฤตที่ต่อเนื่องและยาวนาน ขอให้ทุกคนสนใจหมั่นดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง คนรอบข้าง เปลี่ยนความกังวลเป็นการระวัง อยู่ห่างไว้ ใส่แมส หมั่นล้างมือ ถือหลักสะอาด ปราศจากแออัด เคร่งครัดไทยชนะ หากเครียด กังวล สามารถรับ การประเมินได้ที่เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และเลือกเมนู MENTAL HEALTH CHECK IN หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323