ข่าวแจกกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

เรื่อง : กรมสุขภาพจิต จับมือ สพฐ เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในนักเรียน ผ่านระบบ School Health HERO ชี้หากเรียนออนไลน์ด้วยความไม่พร้อมอาจเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

เปิดอ่าน: 1033

วันที่: 14 July 2564

กรมสุขภาพจิตเข้าร่วมเสวนางาน “เรียนออนไลน์อย่างไร ให้สุขภาพจิตดี” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอผลการติดตามนักเรียนผ่านระบบ School Health HERO เบื้องต้นพบสัญญาณเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม กว่าร้อยละ 11.32 ของนักเรียน กรมสุขภาพจิตและ สพฐ จึงเดินหน้าผลักดันให้ครูทั่วประเทศเกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคมของนักเรียน หากพบสัญญาณเสี่ยง สามารถขอคำปรึกษาและส่งต่อเพื่อรับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที วันนี้ (14 กรกฎาคม 2564) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่มากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครอบครัวเป็นอย่างมาก หลายครอบครัวต้องประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมีรายได้ที่ลดลง มีการต้องเว้นระยะห่างทางสังคมหรือแยกกันอยู่ในครอบครัวจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือมีปัญหาในการปรับตัวต่อการทำงานหรือการเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนซึ่งอาจยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อความไม่แน่นอนของชีวิตเท่ากับผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นหลายอย่างในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนออนไลน์ที่สถานศึกษาจัดให้นักเรียนในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แปลกใหม่และมีข้อจำกัดมากมาย สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถเป็นแหล่งที่พึ่งทางใจให้เด็กที่กำลังประสบปัญหาได้ โดยช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและปลอบประโลมใจให้พวกเขาในสถานการณ์เช่นนี้ กรมสุขภาพจิตได้ติดตามผลการนำ “ระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่บนระบบดิจิทัล” หรือ “School Health HERO” มาใช้ในสถานศึกษา พบว่า ในปีการศึกษา 2563 นักเรียนที่ผ่านการเฝ้าระวังด้วยเครื่องมือสังเกตอาการ 9S (ประกอบด้วยข้อคำถามเพื่อสำรวจอาการ ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ เศร้า เครียด/หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อนและไม่มีเพื่อน) บน School Health HERO ในเด็กจำนวน 62,213 ราย พบสัญญาณเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ ทักษะสังคม จำนวน 7,045 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 11.32 ของเด็กนักเรียน นอกจากนี้ การสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 พบว่า นักเรียนและครูกว่าร้อยละ 50 มีความไม่พร้อมในการเรียนแบบออนไลน์ โดยเหตุผลสำคัญในความไม่พร้อมด้านนักเรียน คือ การขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น และการขาดผู้ให้คำปรึกษาในการเรียนออนไลน์ ซึ่งหากนักเรียนกลุ่มดังกล่าวอยู่ในสภาวะที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ด้วยความไม่พร้อม หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการเรียนและสุขภาพจิตที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผลักดันให้ครูทั่วประเทศเกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะสังคมของนักเรียนผ่าน School Health HERO โดยหากพบสัญญาณเสี่ยง สามารถขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรม ให้คำปรึกษา และส่งต่อเพื่อรับการช่วยเหลือนักเรียนนั้นได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ สำหรับครูที่เริ่มรู้สึกเครียด เศร้า ท้อแท้ กังวล สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ ระบบข้อความผ่าน Facebook 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง