02 149 5555 ถึง 60

 

สธ.จับมือภาคีเครือข่ายส่งเสริมความรู้ด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นกับ ปชช.

สธ.จับมือภาคีเครือข่ายส่งเสริมความรู้ด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นกับ ปชช.

กรมการแพทย์โดยการมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสำหรับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมได้อย่างทั่วถึงวันที่ 22 ม.ค.61 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และประธานคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข เผยภายหลังการประชุมนโยบายการตรวจสุขภาพและการส่งเสริมความรู้ด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ว่าจากสถานการณ์ที่ประชาชนบางส่วนมีการตรวจสุขภาพมากเกินความจำเป็นและ/หรือตรวจถี่เกินไป จนเกิดผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการตรวจสุขภาพที่จำเป็นเนื่องจากขาดความรู้ เข้าไม่ถึงบริการ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556 จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับแพทยสภา สภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการและหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาหน่วยบริการให้สามารถจัดบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม และให้มีการส่งเสริมทำความเข้าใจร่วมกับภาคประชาชนด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานมาเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ การจัดทำแนวทางปฏิบัติในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม สำหรับประชาชน จำแนกเป็นสำหรับแต่ละกลุ่มวัย ประกอบด้วย กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี) กลุ่มวัยทำงาน(อายุ 18- 60 ปี) กลุ่มวัยผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มหญิงมีครรภ์ โดยใช้กระบวนการทางวิชาการเพื่อให้ได้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ มีการรับฟังความคิดเห็นด้านวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง

และผ่านการพิจารณาจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา และร่วมการขับเคลื่อนเมื่อผ่านฉันทามติแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 40 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติบริการ ทั้งการเผยแพร่แนวทางการตรวจสุขภาพสู่สถานบริการทุกระดับ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจให้สามารถจัดบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่ายมีการจัดทำสื่อในรูปแบบ สื่อโทรทัศน์ infographic คลิปเพลง website และเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสู่ภาคประชาชน การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบสุขภาพ มีประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างเหมาะสม เกิดความเข้มแข็งด้านสุขภาพแบบยั่งยืน ในผู้ที่มีภาวะผิดปกติได้รับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สามารถป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และลดภาระค่าใช้จ่ายในระดับครัวเรือนและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ถือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณภาพของการบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับทรัพยากรภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของสังคม และหวังผลในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

24 January 2561

ที่มา สยามรัฐ

Posted By sty_lib

Views, 456

 

Preset Colors