02 149 5555 ถึง 60

 

เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวัง “ฝุ่นควัน” กทม. แนะ 8 วิธีดูแลตัวเอง เผยหน้ากาก N95 ช่วยกรองได้

เตือน 4 กลุ่มเสี่ยงระวัง “ฝุ่นควัน” กทม. แนะ 8 วิธีดูแลตัวเอง เผยหน้ากาก N95 ช่วยกรองได้

กรมควบคุมโรค ชี้ 4 กลุ่มเสี่ยงระวังสถานการณ์ฝุ่นควันใน กทม. อาจอาการกำเริบได้ง่าย พร้อมแนะ 8 วิธีดูแลสุขภาพขณะเผชิญปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็ก ระบุหน้ากากอนามัย N95 ช่วยกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ ด้านรองปลัด สธ.ย้ำดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนด้วย ป้องกันเจ็บป่วย

จากกรณีกรมควบคุมมลพิษรายงานคุณภาพอากาศใน กทม. พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 3 วัน

วันนี้ (25 ม.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สภาพอากาศที่เกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง เป็นต้น ซึ่งในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ 1. โรคระบบทางเดินหายใจ 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคเยื่อบุตาอักเสบ และ 4. โรคผิวหนัง รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก

นพ.สุวรณณชัยกล่าวว่า การดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก คือ 1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2. อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน เพื่อเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้เข้าบ้าน 3. หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก 4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก

5. ให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก 6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการรับประทานยา การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น 7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป และ 8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก

“ประชาชนที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หากพบอาการผิดปกติให้รีบนำตัวส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที และแนะนำให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงพักผ่อนอยู่ในบ้าน ที่สำคัญควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม” นพ.สุววรณชัยกล่าว

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ค่าฝุ่นละอองไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ค่าของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คำนวณมาแล้วว่า หากประชาชนได้รับค่าฝุ่นละอองที่ตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าร้อยละ 80 จะไม่มีอาการป่วย แต่อาจมีประมาณกว่าร้อยละ 10 จะป่วยได้ ซึ่งจะเป็นในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญต้องดูเรื่องของเวลา ซึ่งจะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง โดยต้องดูว่าหากอยู่กลางแจ้งก็เสี่ยงเยอะ เช่น คนงานก่อสร้าง หรือตำรวจจราจร แต่หากนั่งอยู่ในที่ทำงานเปิดแอร์ และเจอฝุ่นละอองประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะไม่กระทบ

“สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีโรคประจำตัว อย่างโรคทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ หอบหืด หัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง ก็อาจได้รับผลกระทบง่ายกว่า รวมไปถึงผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก หรือในกลุ่มคนสูบบุหรี่จัด ทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา ซึ่งหากเราต้องทำงานกลางแจ้งนานเป็นครึ่งวันก็ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิด N 95 ซึ่งจะกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก” พญ.ฉันทนากล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยจะหนาวเย็นอีกครั้ง ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่างกายมีภูมิต้านทานน้อย ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคที่พบบ่อยในช่วงอากาศหนาวเย็นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ปอดบวม ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โดยรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อผ้าหนาๆ และเครื่องกันหนาว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หากเป็นหวัด ควรนอนพักที่บ้าน ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีไข้สูง กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์รับการรักษาทันที ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

“ช่วงนี้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักในบางแห่ง ทำให้อากาศมีความชื้นสูง หากมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นไข้หวัด ให้นอนพักอย่างเต็มที่ ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหนาแน่นในอากาศ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานหนักกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ใกล้บ้าน” นพ.โอภาสกล่าว

26 January 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 884

 

Preset Colors