02 149 5555 ถึง 60

 

ตะลึง! แผลทางใจ รุมเร้า 4.7 แสนคน 4 จว.ชายแดนใต้พบผู้ป่วยมากสุด

ตะลึง! ‘แผลทางใจ’ รุมเร้า 4.7 แสนคน 4 จว.ชายแดนใต้พบผู้ป่วยมากสุด

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 - 15:11 น.

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.ปัตตานี ว่า นอกจาก รพ.จิตเวชสงขลาฯ จะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชที่มีความรุนแรงซับซ้อนยุ่งยากประจำเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง ตรัง และสตูล แล้ว กรมสุขภาพจิตมีนโยบายพัฒนาให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดมาจากภัยวิกฤตทุกประเภท ที่มีความรุนแรงที่สุด คือ โรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรคบาดแผลทางใจ” ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547-เดือนธันวาคม 2560 มีรายงานเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 19,622 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,703 ราย และบาดเจ็บรอดชีวิต 13,247 คน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุด ในปี 2556 พบคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยโรคพีทีเอสดีตลอดช่วงชีวิตร้อยละ 0.9 คาดว่าขณะนี้ทั่วประเทศจะมีคนเป็นโรคนี้ประมาณ 470,000 คน จึงต้องเร่งป้องกันโดยค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุดและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยง

“ขณะนี้ รพ.จิตเวชสงขลา ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือค้นหาโรคพีเอสดีเป็นผลสำเร็จ มีเพียง 2 คำถาม คือ 1.ประสบการณ์เผชิญเหตุสะเทือนใจอย่างรุนแรงในชีวิต เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับเป็นตัวประกัน สูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างกะทันหัน ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีอาการทางจิตใจเกิดขึ้น เช่น ตื่นตัวตลอดเวลา หรือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ และ 2.เหตุการณ์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฯลฯ ผลการทดสอบพบว่า ให้ผลแม่นยำสูงถึงร้อยละ 89 เครื่องมือชนิดนี้ยังไม่เคยมีใช้ที่ไหนมาก่อน จึงนับเป็นความสำเร็จแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรการแพทย์ค้นหาปัญหาทางจิตใจได้เร็ว สามารถให้การเยียวยาได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ร้อยละ 90 ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้ขยายผลใช้ทั่วประเทศแล้ว สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์รุนแรง และได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 แปลเป็นภาษามลายูใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างด้วย” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

ทางด้าน พญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลได้เผยแพร่แบบประเมินหาโรคพีทีเอสดีทาง www.skph.go.th เพื่อให้ประชาชนที่เผชิญวิกฤตต่างๆ หรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต ใช้ประเมินตัวเองได้จากระบบเสียงและข้อความ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ก็รู้ผล หากพบว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคพีทีเอสดี จะมีคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ที่ รพ.จิตเวช ทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ความรู้ประชาชน และใช้ประเมินความเสี่ยงของตนเองได้สะดวกขึ้นทางมือถือ

“สำหรับโรคพีทีเอสดีเป็นโรคจิตเวชที่มีผลกระทบรุนแรงต่อผู้เผชิญเหตุการณ์หรือรอดชีวิต หากเกิดกับเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง บุคลิกภาพ และอารมณ์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือทำสิ่งต่างๆ บางครั้งทำให้เด็กรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า อาจกลายเป็นคนเก็บตัว อารมณ์ถูกกระตุ้นได้ง่าย อาจกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือซึมเศร้า

หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมา เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) สามารถผ่านทางรก ทำให้เด็กในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผลต่อพัฒนาการของสมองและมีผลต่อสติปัญญา อาการของโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วนานกว่า 6 เดือนก็ตาม” พญ.บุญศิริกล่าว และว่า อาการเด่นของโรคนี้มี 8 อาการ คือ 1.นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท 2.หงุดหงิดง่าย 3.ฝันร้ายระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำๆ 4.เฉยเมยต่อญาติและเพื่อนๆ 5. รู้สึกผิดที่ตนเองรอด ขณะที่คนอื่นตาย 6.ตกใจง่ายเมื่อเกิดอะไรผิดปกติรอบตัว เช่น ผวาอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง

7.รู้สึกบ่อยๆ ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นซ้ำอีก และ 8.ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่หรือสถานการณ์ที่ชวนให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำอีก สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคพีทีเอสดีที่ไปรับบริการที่ รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ในรอบ 1 ปี มี 30 คน มักพบมีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ โรคซึมเศร้าพบร้อยละ 90 มีความคิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 55 ใช้สารเสพติด ร้อยละ 16 และใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7 แต่หลังจากได้รับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าร้อยละ 96 อาการดีขึ้น

26 February 2561

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By STY_Lib

Views, 2865

 

Preset Colors