02 149 5555 ถึง 60

 

ความเข้าใจผิดๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต เพราะโรคพิษสุนัขบ้า

ความเข้าใจผิดๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต เพราะโรคพิษสุนัขบ้า

ในระยะนี้ หลายคนอาจได้ข่าวเรื่องมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลายคนอาจมองเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วว่า หน้าร้อนก็ต้องมีหมาบ้า แต่แท้จริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ทุกฤดูกาล ทุกคนมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคและเกิดโรคได้ทั้งสิ้น โรคพิษสุนัขบ้า นับว่าเป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรง เพราะหากเมื่อเกิดอาการหลังสัมผัสโรคแล้วอัตราการตายคือ 100% แต่ข่าวดีคือโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน

แม้เราจะมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ และมีอิมมูโนโกลบูลิน (Rabies Immunoglobulin; RIG) ที่มีประสิทธิภาพสูง กระนั้นก็ยังมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เสมอๆ และหากใครติดตามข่าว ล่าสุดจะพบว่า ในปี 2561 สองเดือนแรกมีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายราย และพบสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 251 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 1.5 เท่า ทำให้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ยังมีความน่าเป็นห่วง

ประเด็นของสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ยังไม่ทุเลา มาจากความเข้าใจผิดและการปฏิบัติตัวของผู้ที่สัมผัสโรค เช่น

เข้าใจผิดว่า เฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้นที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ แท้จริงแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สามารถนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่มนุษย์ได้ (แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ในกรณีที่เป็นการติดโรคตามธรรมชาติ)

เข้าใจผิดว่า สัตว์ที่เลี้ยงในบ้านไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แท้จริงแล้ว สัตว์มีความเสี่ยงในการไปกัดกับสัตว์อื่น หรือถูกสัตว์อื่นกัดและได้รับเชื้อมา

เข้าใจผิดว่า เฉพาะการกัดมีเลือดออกเท่านั้นที่จะสามารถรับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ แท้จริงแล้ว การเลีย การงับ ก็เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะในสารคัดหลั่งจากสัตว์ เช่นน้ำลายก็สามารถพบเชื้อและติดต่อผ่านเยื่อเมือก บาดแผลเปิดได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ทำการประเมินความเสี่ยงการรับสัมผัส

อีกประเด็นที่สำคัญมากๆ คือการละเลยการไปตรวจและไปรับวัคซีนป้องกัน หลังสัมผัสโรค หรือไปรับไม่ครบ

ความสำคัญที่แพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยเสมอคือ “ในช่วง 3 เข็มแรกของการฉีดวัคซีน (ภายใน 7 วัน) ไม่ควรเลื่อนนัดหรือผิดนัดการฉีดวัคซีน” เนื่องจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า (rabies vaccine) หากเป็นการฉีดหลังการสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis) ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง หรือตามประวัติของสัตว์ที่กัดต่อไม่ได้ จำเป็นจะต้องฉีดให้ครบ 5 เข็ม (วันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ 30 หลังการสัมผัสโรค, เนื่องจากจะต้องให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงพอในวันที่ 14 หลังการฉีด)

เมื่อเป็นการฉีดหลายครั้ง พบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มาตามนัด หรือเลื่อนนัด ซึ่ง มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เป็นความเสี่ยงสูงมาก ในการเลื่อนนัดหรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามกำหนด (โดยเฉพาะในช่วง 3 เข็มแรก) ซึ่งประเด็นนี้มีแจ้งไว้ในคู่มือการปฏิบัติงาน (ดูเอกสารอ้างอิง) และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหากสัตว์ที่กัดมีเชื้อและรับวัคซีนไม่ครบถ้วน ก็อาจเกิดการเป็นโรคขึ้นมาภายหลังได้

นอกจากประเด็นเรื่องพิษสุนัขบ้าแล้วยังมีอีกโรคที่ต้องระวัง และอาจตามมาจากการถูกสัตว์กัดได้คือ โรคบาดทะยัก เพราะลักษณะการกัดที่มีแผลลึกแคบ มักจะเป็นแผลที่ไม่ค่อยมีออกซิเจนเข้าถึง ซึ่งเชื้อบาดทะยักเป็นเชื้อที่สามารถอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจน (anaerobic) ได้ ปัญหาเรื่องการติดเชื้อบาดทะยักอาจตามมาภายหลังได้ ซึ่งในรายที่มีความเสี่ยงก็อาจจะต้องได้รับทั้งวัคซีนบาดทะยักและพิษสุนัขบ้าไปพร้อมกัน บางรายอาจรอดจากพิษสุนัขบ้า แต่มาตกม้าตายเพราะเรื่องบาดทะยักหรือแผลติดเชื้อรุนแรง

“สุนัขกัดต้องรีบแก้ ล้างแผลใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อให้ครบชุด”

(อ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย)

7 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 24532

 

Preset Colors