02 149 5555 ถึง 60

 

รพ.จิตเวชเลยฯ ไม่ห้ามผู้ป่วยพึ่ง “รดน้ำมนต์-ไล่ผี” แต่ขอมารักษาแผนปัจจุบันด้วย

รพ.จิตเวชเลยฯ ไม่ห้ามผู้ป่วยพึ่ง “รดน้ำมนต์-ไล่ผี” แต่ขอมารักษาแผนปัจจุบันด้วย

รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ จัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ป่วยจิตเวช เป็นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นในการร่วมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย ช่วยให้เกิดความร่วมมือในการรักษามากยิ่งขึ้น

รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ จัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ป่วยจิตเวช เป็นการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นในการร่วมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย ช่วยให้เกิดความร่วมมือในการรักษามากยิ่งขึ้น

รพ.จิตเวชเลยฯ ไม่ขัดความเชื่อชาวบ้าน “รดน้ำมนต์ - ไล่ผี” รักษาจิตเวช แต่ขอมารักษากับแผนปัจจุบันด้วย พร้อมดึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งการละเล่น บายศรีสู่ขวัญให้โชคดี เป็นกิจกรรมบำบัดฟื้นฟู ช่วยคนไข้ร่วมมือรักษากินยามากขึ้น

นพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเชิงมิติวัฒนธรรม ว่า สาเหตุที่ รพ.จิตเวชเลยฯ พัฒนาความเป็นเลิศเรื่องนี้ เนื่องจากเป็น รพ. พื้นที่ชายขอบ ชาวบ้านยังคงมีความเชื่อเรื่องต่างๆ มากพอสมควร ทั้งคนในพื้นที่ภาคอีสานเอง คนจากฝั่งลาว และชนเผ่าต่างๆ ใน จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น ยกตัวอย่าง การรดน้ำมนต์ การไล่ผี เพื่อรักษาโรค เป็นต้น รพ.จิตเวชเลยฯ จึงพยายามประยุกต์โดยการนำวัฒนธรรมของผู้ป่วยจิตเวชมาประกอบการรักษา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเกิดความร่วมมือในการบำบัดรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีแบบประเมินทางวัฒนธรรมเพื่อให้ทราบพื้นเพของผู้ป่วยจิตเวชว่ามีความคิด ความเชื่อเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเพศสภาพของผู้ป่วยด้วย จนเป็นที่มาของการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นเพศหลากหลาย

นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า การประยุกต์วัฒนธรรมมาส่งเสริมการรักษาของ รพ.จิตเวชเลยฯ มีดังนี้ 1. ใช้การละเล่นพื้นบ้าน มาเป็นกิจกรรมในการฟื้นฟูคนไข้แทนการเล่นกีฬ่าหรือเย็บปัก ซึ่งจากการประเมินเรื่องวัฒนธรรม พบว่า อีสานจะมีการเล่นหมากเก็บ ตีจับ มอญซ่อนผ้า จึงนำกิจกรรมเหล่านี้มาจัดกิจกรรมฟื้นฟู 2. จัดให้มีการกินข้าวร่วมกันเหมือนอยู่ที่บ้าน โดยมีการปูเสื่อล้อมวงกินข้าว โดยเมนูก็จะเป็นข้าวเหนียว เมนูของคนภาคอีสาน โดยจะจัด 1 - 2 สัปดาห์ต่อครั้ง และ 3. การกิจกรรมประเพณี เช่น จัดบายศรีสู่ขวัญ เพื่อให้โชคดีมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณ 2 - 3 เดือนต่อครั้ง หรือสงกรานต์ก็มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้ความรู้สึกว่าเหมือนอยู่บ้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำเอาความเชื่ออย่างบายศรีสู่ขวัญมาส่งเสริมการรักษา จะทำให้คนเข้าใจผิดว่าความเชื่อต่างๆ ก็ช่วยรักษาอาการทางจิตเวชได้หรือไม่ นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า ก่อนอื่นขอชี้แจงก่อนว่า หากเป็นความเชื่อเรื่องการรักษาจะเป็นการรดน้ำมนต์ ไล่ผี แต่การบายศรีสู่ขวัญของคนอีสานจะเป็นความเชื่อว่าทำแล้วโชคดี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาคุ้มครอง ส่วนการเอาความเชื่อต่างๆ มาร่วมส่งเสริมการรักษา จะมีการสื่อสารกับคนไข้ว่า การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันมีความจำเป็น ส่วนการรักษาตามพื้นบ้านก็ไม่ขัด แต่ควรทำควบคู่กันไป อย่างคนไข้ขอไปรดน้ำมนต์ หรือไปหาหมอชาวบ้าน ก็ไม่ได้ขัด แต่ให้มารักษากับแผนปัจจุบันด้วย

“ตำราการรักษาที่ผ่านมา มักจะพยายามให้พวกเราไปเปลี่ยนความเชื่อของชาวบ้านว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อย่าไปรดน้ำมนต์ อย่าไปทำพิธีไล่ผี เพราะไม่หายหรอก ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วก็ถูกว่าไม่หาย แต่หากสื่อสารเช่นนี้ชาวบ้านจะรู้สึกว่าต่อต้าน หรือไม่สบายใจ เราก็ต้องมาศึกษาเรื่องวัฒนธรรมของเขา และปรับแนวทางของเราด้วย โดยแผนปัจจุบันก็ต้องทำเต็มที่ ส่วนเรื่องความเชื่อแทนที่จะไปห้าม ก็มองว่าควรต้องเคารพความเชื่อของผู้ป่วยด้วย ไม่ปฏิเสธความเชื่อของเขา ก็จะช่วยร่วมมือมากขึ้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำแล้วไม่เกิดความเสี่ยงอันตราย อย่างบางคนอาการดีขึ้นออกจาก รพ. จะไปรดน้ำมนต์ก็ได้” นพ.อาทิตย์ กล่าว

เมื่อถามว่ายังเจออุปสรรคการรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากความเชื่ออยู่หรือไม่ นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า ก็ยังมีเรื่อยๆ โดยชาวบ้านที่เรายังไม่เจอ หรือยังไม่มารักษา บางคนพบว่า ก็ไปรักษาน้ำมนต์อยู่หลายเดือนจนไม่ไหวแล้วถึงพามารักษา ซึ่งการจะเข้าถึงผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการนั้น ต้องอาศัยเครือข่ายช่วยด้วย โดย รพ.จิตเวชเลยฯ ได้จัดทำหลักสูตรอบรมทั้งเรื่องการประเมินคนไข้และเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อ ทั้งทางโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีความใกล้ชิดชาวบ้าน อบรมปีละ 1 - 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้เข้าใจ เวลาเจอชาวบ้านมาทำพิธี ก็จะเข้าไปแนะนำได้ ว่ารักษาตามความเชื่อได้ ไม่ขัด แต่อยากให้มารักษากับแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

19 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 896

 

Preset Colors