02 149 5555 ถึง 60

 

หวั่นต่อทะเบียนยาฆ่าหญ้า "พาราควอต" ก่อปัญหาสุขภาพอีกเพียบ พบชาวไร่ขาเน่าตายหลายราย

หวั่นต่อทะเบียนยาฆ่าหญ้า "พาราควอต" ก่อปัญหาสุขภาพอีกเพียบ พบชาวไร่ขาเน่าตายหลายราย

เผยแพร่: 9 เม.ย. 2561 14:37: โดย: MGR Online

เพชรบุรีจังหวัดใหม่พื้นที่เสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" คนเสียชีวิตยังคงที่ 7 ราย ด้าน "หมอธีระวัฒน์" ชี้ไม่ใช่แค่โรคพิษสุนัขบ้า คนไทยยังเสี่ยงรับอันตรายจากสารเคมี หวั่นต่อใบอนุญาตยาฆ่าหญ้าพาราควอต เผยงานวิจัย สกว.ทำทำชาวไร่ขาเน่า ติดเชื้อซ้ำซ้อน เสียชีวิต บ้างต้องตัดขา

วันนี้ (9 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าข้อมูล ณ วันที่ 9 เม.ย. 2561 ว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย จาก 7 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ และพัทลุง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขกัดหรือข่วนแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยการป้องกันนั้นขอย้ำว่าอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือไม่ทราบประวัติ

ส่วนสถานการณ์ในสัตว์นั้น พบว่า การตรวจหัวสัตว์พบผลเป็นบวกต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้น สุนัขมีทั้งหมด 593 หัว วัว 40 หัว และแมว 24 หัว รวมทั้งหมด 660 หัว จาก 44 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการรายงานมากที่สุดคือ สุรินทร์ 90 หัว ร้อยเอ็ด 84 หัว สงขลา 47 หัว นครราชสีมา 42 หัว และยโสธร 30 หัว

สำหรับพื้นที่เสี่ยงจากการอ้างอิงข้อมูลกรมปศุสัตว์ มี 8 จังหวัดคือ สุรินทร์ สงขลา นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช สตูล และเพชรบุรี ซึ่งเพชรบุรีเป็นจังหวัดใหม่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังพบว่าคนไทยมีความเสี่ยงจากการรับสารพิษและสารเคมี โดยเฉพาะจากการรับประทานผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งสะสมจนเสี่ยงเกิดโรคไต โรคตับ ล่าสุด มีผลการศึกษาว่า ส่งผลทางสมองด้วย ที่ผ่านมานักวิชาการ ผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต อีกทั้ง สธ.และผู้เชี่ยวชาญต่างๆได้มีการประชุมและสรุปข้อเสนอไปแล้วว่า ควรต้องถอนออก เพราะมีผลต่อสุขภาพ แต่อาจไม่ได้ถอนสารเคมีดังกล่าวทันที แต่ค่อยๆ ลดลง และหมดไป

"ปัญหาคือทราบว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งจะพิจารณาตัดสินภายใน เม.ย.นี้ว่า จะถอนสารเคมีดังกล่าวหรือไม่ หรือจะต่อทะเบียนอีก เพราะที่ผ่านมามีการให้เหตุผลจนทำให้เกิดความหวาดวิตกว่าจะต่ออนุญาตให้สารฆ่าหญ้าพาราควอตไปอีก ซึ่งหากเป็นจริง จะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมาก" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสารพาราควอตถูกแบนใน 48 ประเทศ ซึ่งมีทั้งเอเชีย ยุโรป แอฟริกา โดยในเอเชีย รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแต่ไม่ให้ใช้มีการแบน นอกจากนั้น ยังมีประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา เรื่องยาฆ่าหญ้าเหล่านี้พวกเราที่เรียนหมอจะเห็น คนตายอย่างทรมานหลายราย ที่พลาดสัมผัสผิวหนังหรือกินโดยอุบัติเหตุและตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืดตับวายและไตวาย ต่อมามีการใช้โดยให้มีการปกปิดร่างกายมิดชิดแต่ก็ยังมีการสัมผัสผิวหนังและตกค้างอยู่ในไร่นา ในน้ำที่ขัง ชาวไร่ชาวสวนย่ำน้ำที่มีสารปนเปื้อนเหล่านี้ เฉพาะที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่โรงพยาบาลจังหวัดมีคนไข้ 100 กว่ารายในหนึ่งปี และเสียชีวิต 6 รายด้วยขาเน่าและมีติดเชื้อซ้ำซ้อน หลายรายต้องตัดขาทิ้ง เป็นผลงานของคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เป็นผู้ศึกษา

10 April 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 524

 

Preset Colors