02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดชื่อแมลงมีพิษภัยถึงตาย กินแค่3ตัวอวกเป็นเลือดดับ

เปิดชื่อแมลงมีพิษภัยถึงตาย กินแค่3ตัวอวกเป็นเลือดดับ

แพทย์เตือนอันตรายแมลงมีพิษ ชี้ด้วงก้นกระดก-ด้วงน้ำมัน พิษอันตรายปวดแสบปวดร้อน ไม่ควรนำมากิน เพียงแค่ 3 ตัวรักษาไม่ทันเสี่ยงเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า อันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษเป็นภัยด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งแมลงหลายชนิดมีพิษโดยธรรมชาติในตัวของมันเอง คนจะได้รับพิษจากการถูกกัด ดูดกินเลือด หรือจากการไปสัมผัส รวมทั้งการบริโภคแมลงมีพิษเหล่านั้น โดยหลังจากได้รับพิษจะมีอาการ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรงเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลงรวมทั้งสภาพร่างกาย อายุ บริเวณที่ได้รับพิษ ปริมาณสารพิษที่ได้รับ

สำหรับอาการทางร่างกายหรือผิวหนัง จะมีลักษณะบวมแดง เจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อน ผื่นคันระคายเคือง เช่น พิษด้วงก้นกระดกที่มีสารพีเดอริน (Pederin) เมื่อลำตัวแมลงแตกหัก สารพิษดังกล่าวจะสัมผัสกับผิวหนัง ทั้งนี้หากนำไปบริโภคจะมีอาการ 2 แบบ คือ 1.อาการแพ้จากกินแมลงทั่วไป ร่างกายจะตอบสนองคล้ายกับแพ้อาหารทะเล ตั้งแต่อาการเล็กน้อยๆ ได้แก่ ลิ้นและหลอดอาหารบวม กลืนลำบาก คลื่นไส้ กระวนกระวาย เป็นลม ปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารหดเกร็ง ท้องเสียจนถึงขั้นรุนแรง คือ ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว หายใจไม่สะดวก ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ และ 2.อาการแพ้จากกินแมลงมีพิษร้ายแรง ได้แก่ ด้วงน้ำมันที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอยู่เสมอ เพราะประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ากินได้ จึงจับมาเผาไฟกิน ซึ่งจะได้รับสารพิษแคนทาริดิน (Cantaridin) ถึงแม้ด้วงจะถูกเผาไฟแล้วแต่สารพิษยังคงอยู่

โดยพบว่าการกินด้วงน้ำมันเกิน 3 ตัว แล้วรักษาไม่ทันจะทำให้เสียชีวิตได้ อาการของผู้ที่กินด้วงน้ำมัน คือ ปวดท้องรุนแรง อาเจียนมีเลือดปน รวมทั้งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีเลือดปน เนื่องจากสารพิษเข้าไปทำอันตรายต่อเยื่อเมือกในระบบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่ดูดกินเลือดโดยตรง เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงชนิดนี้ในเวลากลางวัน จะหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณที่รกรุงรัง หรือรอยแตกของผนังห้อง รวมทั้งพุ่มไม้รอบบ้านแล้วออกมาดูดกินเลือดคนและสัตว์ในเวลากลางคืน รวมทั้งตัวเรือด หมัด เห็บ และไร เป็นต้น

"หากไม่ดูแลรักษาบาดแผลที่ถูกกัด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นแผลอักเสบลุกลามได้ หรือแม้แต่แมลงบางชนิด เช่น แมลงวันตา ชอบมาดูดกินเลือดและน้ำเหลืองบนแผล จะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล กลายเป็นแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงไม่กินแมลงที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยกินมาก่อน และป้องกันตัวเองจากการถูกกัดต่อย ถ้าได้รับพิษทางผิวหนังให้ล้างแผลให้สะอาด ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม ถ้าอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที" นพ.สุขุม กล่าวเตือน

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข จัดทำหนังสือแมลงมีพิษที่เข้าใจง่าย รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับชนิดของแมลงพิษว่ามีลักษณะอย่างไร รวมทั้งวิธีป้องกันตัวและการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อได้รับพิษ แจกจ่ายให้กับหน่วยงานและประชาชนที่สนใจ ซึ่งสามารถติดต่อรับได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 0-2591-1707 ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/regional/638905

19 April 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By sty_lib

Views, 1852

 

Preset Colors