02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ทำ จม.เตือนทบทวน "E-Sport" เป็นกีฬา แจงยิบ 6 ข้อ ไทยไม่พร้อม ไร้การควบคุม เสี่ยงติดเกม

จิตแพทย์ทำ จม.เตือนทบทวน "E-Sport" เป็นกีฬา แจงยิบ 6 ข้อ ไทยไม่พร้อม ไร้การควบคุม เสี่ยงติดเกม

จิตแพทย์ทำจดหมายถึงผู้บริหาร เตือนทบทวน E-Sport เป็นกีฬา พร้อมแจง 6 เหตุผล ชี้ E-Sport แค่วาทกรรมบริษัท ที่จริงคือแข่งวิดีโอเกม โอลิมปิกยังไม่รับรองเป็นกีฬา เหตุเนื้อหารุนแรง ไม่มีการควบคุม ไม่เป็นสาธารณะ เกิดมืออาชีพที่มีรายได้แค่ 1 ใน ล้านคน แต่ติดเกม 8 หมื่นคน เกิดผลกระทบสุขภาพ ไทยมี 3 จุดอ่อนแต่รับรองว่าเป็นกีฬา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ทำจดหมายเปิดผนึก เรื่อง E-Sport ส่งถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคม E-Sport ซึ่งเท่ากับรับรองว่า เป็นกีฬาด้วย ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นวงกว้าง เพราะได้มีการโฆษณาและส่งเสริมให้เกิดการเล่นวิดีโอเกม ที่เดิมก็ขยายตัวมากอยู่แล้ว เมื่อใช้การอ้างเป็นกีฬาก็ยิ่งทำให้ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่วงวิชาการทั่วโลกยังไม่ได้ยอมรับการแข่งขันวิดีโอเกม ว่าเป็นกีฬา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชัดเจนว่า การเล่นมากเกินไปจะนำไปสู่โรคการติดเกมได้ ซึ่งทาง WHO จัดว่าเป็นการวินิจฉัยโรคกลุ่มใหม่ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพจิตในปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ขอชี้แจงเหตุผลโดยสังเขปดังนี้

1. E-Sport เป็นวาทกรรมของบริษัท ที่จริงคือการแข่งขัน VDO Game คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา (3 เหตุผล เนื้อหารุนแรง / ไม่มี Sanction body คอยควบคุม /ไม่เป็นสาธารณะ แต่เป็นลิขสิทธิ์เอกชน) และแม้แต่องค์กรนานาชาติอย่าง Sport Accord ที่เป็นองค์กรรับรองกีฬา รวมทั้ง Mental Sport ก็ไม่รับรองวีดีโอเกมว่าเป็น Mental Sport

2. ในการดูแลผลทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้นเทียบไม่ได้กับผลร้ายที่เกิดขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีคนเล่น rov จำนวน 60 ล้านคน มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน (ทุกผู้เล่นจำนวน 1 ล้านคนจะมีมืออาชีพจำนวน 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 2 - 8 หมื่นคน ขึ้นกับ definition) ซึ่งส่งผลเสียต่อครอบครัว สมรรถนะการประกอบอาชีพมากมายมหาศาล

3. กว่าจะเป็น 1 ในล้านที่มีรายได้และคนจำนวน 8 หมื่นคนที่ติดเกม คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ (ในเด็กจะเสียสังคม/ภาษาล่าช้า) WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช ทั้งที่มีบริษัทได้คัดค้านหลายครั้งทำให้ต้องดีเลย์การประกาศมาหลายปี แต่หลักฐานทางวิชาการก็ชี้ชัดว่า เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน อย่าลืมว่าไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้

4. การรับรองให้เป็นสมาคมไปแข่งขันระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ เป็นการรับรองว่าเป็นสมาคมตัวแทน ไม่ใช่รับรองว่าเป็นการกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่า เป็นกีฬาเท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสขยายการโฆษณาว่าเป็นกีฬาอย่างรุนแรง ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในฐานะ VDO Game

5 ผลก็คืออัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว รวมทั้งปัญหาที่ตามมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ละทิ้งการเรียน การพูดปด ลักขโมย ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ แค่ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2560 - มีนาคม 2561) ของการประกาศก็เพิ่มกว่าเท่าตัว มีการเปิดค่าย "กีฬา E-Sport" สนับสนุนให้นักเรียนจัดการแข่งขันในโรงเรียนโดยอ้างว่าเป็น Sport ฯลฯ

6. ประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีกลไกการดูแลดีกว่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬา แต่ไทยซึ่งมีจุดอ่อนทั้ง 3 ประการ กลับไปสนับสนุนให้เป็นกีฬา

Demand Side เด็กและพ่อแม่ไม่เข้าใจผลเสียและโอกาสที่เกิดการติด ซึ่งต้องป้องกันด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ และใช้หลัก 3 ต้อง 3 ไม่ (ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก ไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่มีในห้องนอน)

Supply Side บริษัทขาดจรรยาบรรณในการโฆษณาและการตลาด

Regulator (กกท.และสมาคม) ขาดความสามารถในการควบคุม

ผลร้ายจึงยิ่งรุนแรงกว่าประเทศใดๆ ขณะนี้มีผู้ที่ห่วงใยได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ผ่านผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สภา รวมทั้งสมัชชาสุขภาพ ก็รับไว้เป็นวาระสำคัญ

ผมจึงขอให้ผู้บริหารได้ศึกษาและทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยไม่อคติและไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาว เพราะมีครอบครัวและเยาวชนจำนวนมากที่กำลังเกิดปัญหาขึ้น เราจะต้องยื่นมือเข้ามาจัดการแบบหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ (ออกกฎหมายห้ามนำมาในโรงเรียน , ลงทะเบียนบัตรประชาชนเพื่อควบคุมอายุ , เกมต้องหยุดเมื่อครบ 2 ชั่วโมง เป็นต้น)

เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อธุรกิจ แต่ธุรกิจก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน เราไม่ได้ห้ามการเล่นเกม แต่คนไทยเด็กและพ่อแม่จะต้องเท่าทัน และองค์กรควบคุมก็ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ถ้าเมื่อไรมีการทบทวนจนมีความก้าวหน้าจากฝ่าย Supply และ Regulator อย่างชัดเจน แต่เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้มี Action ที่จะควบคุมให้เหมาะและทันกาล

17 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 883

 

Preset Colors