02 149 5555 ถึง 60

 

มติเพิ่มลมชักห้ามมีใบขับขี่ ไม่สำคัญเท่ากับจิตสำนึก

มติเพิ่มลมชักห้ามมีใบขับขี่ ไม่สำคัญเท่ากับ'จิตสำนึก'

สัปดาห์นี้มีมติแล้ว “แพทยสภา” เพิ่ม “โรคลมชัก” ห้ามทำใบขับขี่ แต่จะสกัดโรคต้องห้ามได้ผลแค่ไหน ถ้าสิ่งสำคัญไม่สร้างจิตสำนึกความปลอดภัย

ในที่สุดคณะกรรมการแพทยสภาก็มีมติให้ “โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้” เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เว้นแต่แพทย์ผู้รักษารับรองว่า...ผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี

ส่งผลให้ “โรคลมชัก” ถือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงอันตรายในการขับรถเป็นโรคที่ 6 ที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) จะไม่ออกใบอนุญาตขับรถให้ เพิ่มจากที่กำหนดไว้เดิมแค่ 7 โรคและปรากฎอาการ ประกอบด้วย ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง ไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการ วัณโรคในระยะอันตราย และโรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ

ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า โรคลมชัก (Epilepsy) หรือที่บางคนเรียกว่า “โรคลมชักบ้าหมู” หรือ “โรคลมบ้าหมู” เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยความชุกประมาณ0.67% ประมาณว่าคนไทยทั่วประเทศเป็นโรคลมชัก 450,000 คน มีอาการหลายลักษณะประกอบด้วย ชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ (โรคลมชักบ้าหมู) การชักชนิดนั่งนิ่งเหม่อลอย การชักชนิดทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว การชักกระตุกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและรู้สึกตัวดี และการชักชนิดล้มลงกับพื้นทันที ดังนั้นถ้ามีอาการชักขณะขับรถจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

มีตัวอย่างของอุบัติเหตุอันน่าสลดที่เกิดขึ้นบนท้องถนนจากผู้ขับขี่ที่เป็นโรคลมชัก หรือมักจะอ้างว่าเป็นโรคลมชัก หวังจะให้โทษของความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บนั้นลดน้อยลงไป เช่น กรณี นายอัครเดช อุดมรัตน์ อายุ 44 ปี ชาวจ.ชลบุรี พกใบอนุญาตขับรถซิ่งกระบะย้อนศรพุ่งชนรถจักรยานยนต์หลายคัน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บระนาว 15 ราย บนถนนพัทยาใต้เมื่อปีก่อน โดยให้การกับตำรวจว่าเป็น “โรคลมชัก” รวมไปถึงเหตุการณ์อันโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน “หมูแฮม-กัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์” ลูกชายอดีตนางสาวไทย รวมไปถึง “เจนภพ วีรพร” เศรษฐีหมื่นล้านก็ถูกระบุว่าเป็นโรคลมชัก

...เป็นที่มาให้กรมการขนส่งทางบก หารือแพทยสภาเพิ่มโรคลมชักเป็นโรคต้องห้ามในการทำใบขับขี่

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก บอกว่า ได้สั่งการให้นายทะเบียนทั่วประเทศ ตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการตรวจสอบหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบคำขอดังนี้ ต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน

โดยส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพ ลงลายมือชื่อรับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ ส่วนที่ 2 ของแพทย์ผู้ตรวจรับรองว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี รวมถึงการรับรองในกรณีอื่นตามระเบียบเดิม จึงสามารถดำเนินการขอรับใบอนุญาตขับรถได้ตามระเบียบของการขนส่งทางบก

“ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถควรแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ตัวเองต้องรับรองตัวเองหากให้ข้อมูลเท็จ หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บด้วย ต้องถูกเพิกถอนใบขับอนุญาต” นายพีระพล ย้ำอย่างขึงขัง

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก ได้เสนอให้แพทยสภาเพิ่มโรคอื่นๆ ที่เห็นว่าอันตรายต่อการขับขี่ด้วย อาทิ เบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เป็นต้น

เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และกำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ให้สามารถคัดกรองผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถได้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม

สแกนข้อมูลจากกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก พบว่ามีจำนวนใบขับขี่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.61 ถึง 32,759,020 ใบ เป็นใบขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 30,875,486 ใบ และใบขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก 1,865,067 ใบ เช่น ใบขับขี่รถสาธารณะต่างๆ

การสกัดโรคต้องห้ามในการขอทำใบอนุญาตขับรถ ไม่สามารถทำให้ทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน ตราบที่ผู้ถือใบอนุญาต 31 ล้านใบ และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีใบขับขี่ยังฝ่าฝืนขับรถ ไม่รักษาวินัยจราจรและไร้จิตสำนึกของความปลอดภัย.

29 January 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2138

 

Preset Colors