02 149 5555 ถึง 60

 

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้คนเกลียด

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้คนเกลียด

ข้อความที่ว่า ลูกเราอาจไม่น่ารักสำหรับคนอื่นเสมอไป ดูจะเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงจิตใจคุณพ่อคุณแม่หรือแม้แต่สมาชิกชมรมคนรักเด็กทั้งหลายเมื่อได้ยินได้ฟัง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่คนเป็นคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกไม่ดีด้วย เพราะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าลูกของใครๆก็รัก ห่วงใยและคอยดูแลทะนุถนอมเป็นอย่างดี เด็กยิ่งโตยิ่งฉายแววความน่ารักสดใส น่าเอ็นดู...ใครกันนะที่เกลียดเด็กได้ลงคอ?

หากมองโลกในแง่ดีคงไม่มีใครอยากต่อว่าหรือให้ร้ายเด็กๆ แม้บางคนอาจเคยเจอสถานการณ์ที่ทำให้กระอักกระอ่วนใจ โดยเฉพาะการที่เด็กๆวิ่งเล่น ส่งเสียงดัง ทำลายสิ่งของส่วนรวม หยิบฉวยของคนอื่นไป หรือก่อกวนจนเป็นที่น่ารำคาญใจแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้คนอื่นรู้สึกเกลียดหรือไม่ชอบลูกของเรา ในความเป็นจริงแล้วเราคงไม่สามารถพาเด็กๆหลีกหนีออกจากการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนอื่นๆในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมได้

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวควรเริ่มจากการเอาใจเขามาใส่ใจเราเสียก่อน พึงเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ใจร้ายหรือต้องการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของเด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาวที่รอรับการเติมแต่ง เพียงแต่มีความคาดหวังให้ผู้ปกครองทำหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น การป้องกันจึงต้องมาจากแนวทางการเลี้ยงลูกของผู้ปกครองเอง ไม่ใช่ที่ตัวเด็กแต่อย่างใด

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตตามปกติคือการพัฒนา ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ : Emotional Quotient) หรือการพัฒนาความสามารถในการรับรู้และรับมือกับอารมณ์ของตัวเองในสภาพการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสมให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถแสดงออกถึงการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตัวเอง มีความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่มาของ 5 แนวทางในการเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้คนเกลียด ดังนี้

1.ให้เวลาและความรัก การแสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใยโดยการโอบกอดหรือสัมผัสตัวเบาๆ หอมแก้ม ยิ้มให้อย่างมีความสุข การบอกรักกันทุกวัน รวมถึงการใช้เวลาพิเศษของครอบครัวร่วมกันอย่างสม่ำเสมอนั้นช่วยมอบคุณค่าทางจิตใจมหาศาลให้กับเด็กได้อย่างคาดไม่ถึง ความรักและความอบอุ่นใจเป็นพื้นฐานสำคัญของสิ่งมีชีวิตที่ทำให้การดำเนินชีวิตนั้นมีความหมาย เด็กที่เติบโตมาบนพื้นฐานดังกล่าวถูกหล่อหลอมและปลูกฝังให้รับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองและผู้อื่นไปโดยอัตโนมัติ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นความสุขให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี

2.คอยรับฟังและเป็นแบบอย่างที่ดี จุดเริ่มต้นปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ลุกลามบานปลายไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กๆ มักมาจาก ช่องว่างระหว่างวัย คุณพ่อคุณแม่พึงเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวต่อเด็กให้สอดคล้องและเหมาะสมตามช่วงวัย พื้นฐานความสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องมีเสมอคือ การเปิดพื้นที่และเปิดใจรับฟังลูกๆในทุกๆเรื่อง ร่วมพูดคุยและให้คำแนะนำด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการตำหนิโดยใช้อารมณ์และคำพูดที่ไม่น่าฟัง เพื่อสร้างการยอมรับและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วขึ้นหากคุณพ่อคุณแม่แสดงพฤติกรรมที่คาดหวังโดยเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กๆได้ทำตาม

3.กำหนดกติกาและความรับผิดชอบ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจเมื่อพบว่ามีเด็กข้ามเส้นแบ่งที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันคือ การที่ผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมหรือห้ามปรามเด็กให้หยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักษากติกาและเรียนรู้ถึงผลลัพธ์หรือบทลงโทษที่ตามมาหากไม่ใส่ใจที่จะทำตาม สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างพื้นฐานเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นฝึกฝนลูกๆได้โดยการร่วมกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบภายในบ้าน ฝึกความตรงต่อเวลา รวมถึงการยอมรับผิดและพร้อมที่จะกล่าวคำขอโทษ

4.เสริมจุดแข็งเพื่อสร้างตัวตน เด็กที่สามารถพัฒนาความฉลาดทางทางอารมณ์ (EQ) ได้ดีนั้นต้องการการส่งเสริมที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ในการปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้และร่วมกันค้นหาความถนัดหรือความสนใจ การใช้เวลาว่างของครอบครัวร่วมกันวางแผนทำกิจกรรมหรือท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กได้เข้าชมรมและมีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกีฬา งานศิลปะ หรือการดนตรี นอกจากจะช่วยให้เด็กๆได้ค้นพบจุดแข็งและตัวตนซึ่งสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับตัวเองแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในการปรับตัวและใช้ชีวิตเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

5.ปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยรูปแบบของสังคมในยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนต่างคนต่างอยู่และใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวจนละเลยที่จะมองเห็นหรือเข้าใจคนอื่นนั้น ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการปลูกฝังให้เด็กๆมีจิตสาธารณะ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญที่ช่วยกล่อมเกลาลูกๆให้มองเห็นและเข้าใจคนอื่น มีจิตใจที่ดีงาม รู้จักเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน มองว่าการทำสังคมให้น่าอยู่และดีขึ้นได้นั้นเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ซึ่งทำให้วางใจได้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จิตสำนึกของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะช่วยกำกับให้เด็กนึกถึงผลที่จะเกิดกับคนอื่นและส่วนรวมเสมอ

ด้วยแนวทาง 5 ข้อตามที่กล่าวมาข้างต้น หากสามารถทำได้ ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ว่าเรามีแนวทางในการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดความไม่พอใจในตัวคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกได้ไม่ดีพออย่างที่คนอื่นคาดหวัง จนพลอยทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อเด็กๆไปด้วย และช่วยให้เด็กๆไม่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม

4 March 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 801

 

Preset Colors