02 149 5555 ถึง 60

 

ปัญหาชีวิตกับการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น

ปัญหาชีวิตกับการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ช่วงนี้เพิ่งมีข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในไทยที่สูงขึ้น ประกอบกับมีน้องคนหนึ่งอยากทราบว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงฆ่าตัวตายกันมาก ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้ค่ะ อันที่จริงจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่กำลังเป็นปัญหาคือกลุ่มวัยเรียนที่ฆ่าตัวตายมากขึ้น และการฆ่าตัวตายก็ยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับแรก ๆ ของคนในหลายช่วงวัยด้วย

จากสถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ณ ปี พ.ศ. 2559 ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับที่ 14 จากทั้งหมด 183 ประเทศ เรียกได้ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ก็ยังไม่ถึงกับติดโผ 10 อันดับแรก สำหรับไทยอยู่อันดับที่เท่าไหร่ เพื่อนผู้อ่านลองทายดูนะคะ เดี๋ยวจะเฉลยในตอนท้าย

เท่าที่สืบค้นข้อมูลมา ดูเหมือนว่าชาวตะวันตกบางส่วนจะมองว่า คนญี่ปุ่นเห็นการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่มีเกียรติแบบเดียวกับการคว้านท้องของซามูไรในสมัยโบราณ ซึ่งนี่น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่นมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นความน่าละอายเพราะหนีความรับผิดชอบ ทำให้คนพยายามปกปิดหากมีใครในครอบครัวฆ่าตัวตาย นับว่านอกจากจะทุกข์เพราะสูญเสียบุคคลที่รักไปแล้ว ยังต้องทนทุกข์จากความหวาดกลัวการตีตราของสังคมอีกด้วย คนกลุ่มนี้จึงไม่อาจหาที่พึ่งได้เลยเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

จากเดิมที่การฆ่าตัวตายเคยถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาสังคมแล้ว จุดเริ่มส่วนหนึ่งมาจากการตีพิมพ์หนังสือ “ไม่กล้าบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย” (自殺って言えなかった)ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะท้อนความเจ็บปวดของเด็กในหลายครอบครัวที่พ่อแม่ฆ่าตัวตาย กระตุ้นความสนใจของสื่อไปในวงกว้าง ทำให้เรื่องราวที่แวดล้อมการฆ่าตัวตายเป็นที่รับรู้มากขึ้นตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ที่กระตุ้นให้รัฐดูแลแก้ไขปัญหานี้ จนนำไปสู่การดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาลอย่างเป็นองค์รวมและเป็นรูปธรรม กระทั่งออกกฎหมายป้องกันการฆ่าตัวตายเมื่อ พ.ศ. 2549 ด้วย

มีการเก็บสถิติข้อมูลและดำเนินมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ และแก้ไขอย่างต่อเนื่อง คงเพราะปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เองจึงทำให้อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นโดยรวมลดลงมาตลอด 9 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2553

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของกรมตำรวจญี่ปุ่นและกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบว่า ช่วงสองปีมานี้ (พ.ศ. 2560-2561) อัตราการฆ่าตัวตายของคนอายุระหว่าง 10-19 ปีเพิ่มสูงขึ้น แถมการฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของผู้เสียชีวิตในช่วงอายุ 15-39 ปี และเป็นสาเหตุอันดับสองของผู้เสียชีวิตในช่วงอายุ 10-14 ปี และ 40-49 ปีด้วย

สาเหตุของการฆ่าตัวตายมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งโดด ๆ แต่เกิดจากหลายปัจจัยเชื่อมโยงกันโดยเฉลี่ยประมาณ 4 ปัจจัย อย่างเช่น สมมติถ้าเป็นนักเรียนก็อาจจะเกิดจากปัญหาถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน + ผลการเรียนไม่แน่นอน + มีปัญหากับครูหรือเพื่อนนักเรียน + กังวลว่าเรียนจบมัธยมแล้วไม่รู้จะเลือกทางเดินอย่างไรต่อ

หรือถ้าเป็นคนทำงานก็อาจเกิดจากปัญหาการทำงานหนัก + ทำงานพลาด + มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน + ซึมเศร้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้

1) ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคซึมเศร้า และโรคภัยต่าง ๆ

2) ปัญหาการเงินและการใช้ชีวิต เช่น ความยากลำบากในการดำเนินชีวิต การเป็นหนี้สิน

3) ปัญหาครอบครัว เช่น การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสามีภรรยา ความกังวลต่ออนาคตของครอบครัว

4) ปัญหาด้านการงาน เช่น ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน

5) ปัญหาอื่น ๆ

6) ปัญหาความสัมพันธ์ชาย-หญิง เช่น การไม่สมหวังในความรัก ความกลัดกลุ้มต่อความสัมพันธ์

7) ปัญหาในสถานศึกษา เช่น ผลการเรียนที่ไม่ดี ความกังวลต่อทางเดินในอนาคต การกลั่นแกล้ง

แม้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาการฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุเหล่านี้จะลดลงเป็นส่วนใหญ่ แต่การฆ่าตัวตายด้วยปัญหาด้านการงานและปัญหาในสถานศึกษากลับเพิ่มขึ้น อีกทั้งคนมีอาชีพการงานก็ยังฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่การฆ่าตัวตายในกลุ่มคนไม่ได้ทำงาน (แม่บ้าน คนตกงาน คนที่ดำรงชีพด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ คนมีรายได้โดยไม่ได้ทำงาน เช่น มีบ้านให้เช่า และอื่น ๆ) ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552

สำหรับเหตุจูงใจอันดับหนึ่งในการฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษามาจากปัญหาในสถานศึกษา ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ และปัญหาครอบครัว (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น พ.ศ. 2562) จากจดหมายลาตายของนักเรียนประถมถึงมัธยมที่ฆ่าตัวตายบอกว่าไม่รู้จะเลือกทางเดินชีวิตต่อในอนาคตอย่างไรมีมากที่สุด ตามมาด้วยเรื่องปัญหาครอบครัว และการกลั่นแกล้ง นอกจากนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ทิ้งจดหมายไว้ จึงไม่สามารถระบุสาเหตุได้ (ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น พ.ศ. 2561)

ในขณะเดียวกัน เหตุจูงใจอันดับหนึ่งของพนักงานกินเงินเดือนมาจากปัญหาสุขภาพ ตามมาด้วยปัญหาในที่ทำงาน และปัญหาการเงินและการใช้ชีวิต ส่วนการถูกกลั่นแกล้งและกดขี่ข่มเหงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดในหมู่คนทำงาน

อย่างไรก็ดี มีการสำรวจหนึ่งพบว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมบอกนายจ้างว่ามีปัญหาความเครียด โดยเฉพาะผู้ชายเพราะจะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ ในขณะเดียวกันผู้ชายก็ฆ่าตัวตายเป็นอัตราส่วนที่มากกว่าผู้หญิง 2.2 เท่าในญี่ปุ่นด้วย

แม้จำนวนคนฆ่าตัวตายจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ญี่ปุ่นก็ยังต้องหาทางรับมือกับกลุ่มเสี่ยงที่เพิ่มจำนวนต่อไป โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในสถานศึกษาและปัญหาด้านการงาน

ตำรวจทางหลวง Kevin Briggs กำลังรับฟังเรื่องราวของชายที่กำลังสิ้นหวัง ซึ่งในที่สุดยอมปีนรั้วข้ามกลับมา ปัจจุบันมีชีวิตอยู่และผันตัวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญการป้องกันการฆ่าตัวตายและเป็นนักพูดให้กำลังใจ นายตำรวจนี้ได้ช่วยชีวิตคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายที่สะพาน Golden Gate มาแล้วกว่า 200 คน

ลองสืบค้นคำว่า “ตำรวจ kevin briggs” หากต้องการอ่านและฟังเรื่องราวเพิ่มเติม

มาถึงเฉลยเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยนะคะ จากสถิติที่องค์การอนามัยโลกรวบรวมไว้ล่าสุด ณ พ.ศ.​ 2559 ไทยมีการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับที่ 32 จาก 183 ประเทศทั่วโลก นับว่าน่าตกใจไม่น้อยทีเดียว ทำให้รู้สึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากจริง ๆ และเมื่อทบทวนดูแล้วก็มีหลายคนที่ฉันรู้จักซึ่งเคยคิดฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายสำเร็จ คนเหล่านี้ต่างก็เป็นคนดี เป็นที่รัก เป็นความสวยงามของโลกใบนี้ และบางคนอาจเป็นโลกทั้งใบสำหรับใครบางคนด้วยซ้ำไป

ฉันมีโอกาสได้อ่านสารบัญของหนังสือญี่ปุ่น “ไม่กล้าบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย” ที่กล่าวถึงในตอนต้นแล้วน้ำตาร่วงเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น “ผมไม่ทันสังเกตอาการของพ่อเลย” “ผมคิดว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำให้พ่อฆ่าตัวตาย” “ทำอย่างไรตอนนั้นพ่อถึงจะไม่ตาย” “อยากให้มีชีวิตอยู่ต่อไปถ้ารักครอบครัว” ทำให้ได้เห็นว่าไม่เพียงคนที่ฆ่าตัวตายเท่านั้นที่ทุกข์ แต่คนในครอบครัวที่เหลืออยู่ก็พลอยทุกข์สาหัสไปด้วย

คนที่ฉันรู้จักคนหนึ่งเคยพยายามฆ่าตัวตาย โชคดีที่ในระหว่างที่ยังไม่ถึงขีดอันตรายเธอก็เกิดห่วงลูกขึ้นมา จึงตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปและรีบไปโรงพยาบาล จากนั้นมาเธอก็หันไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม ทำให้ได้พบเพื่อนดี ๆ มากมาย และเธอก็ดูมีความสุขขึ้นด้วย

ลองนึกดูนะคะว่าหากเธอด่วนจากโลกนี้ไปจะเป็นอย่างไร นอกจากเธอจะอดเจอเพื่อนดี ๆ ไม่ได้พบความสุขที่เธอมีในตอนนี้แล้ว ครอบครัวเธอคงเสียใจไปตลอดชีวิตด้วย แถมคนที่ยังไม่รู้จักเธอก็จะไม่มีวันได้รู้จักคนที่อบอุ่นอ่อนโยนคนนี้ หรือกระทั่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เพราะมีเธออยู่ และการที่เธอผ่านความทุกข์สาหัสมาก่อนก็ทำให้เธอเข้าใจความทุกข์ของคนอื่น จนเป็นที่ปรึกษา เป็นกำลังใจให้ใครต่อใคร ช่วยคนอื่นให้ได้คลายทุกข์อีกมากมาย

แอปพลิเคชัน SabaiJai สำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง ใช้ได้ทั้งระบบ iOS และ Android คลิกอ่าน รายละเอียดแอปพลิเคชัน "สบายใจ" (SabaiJai)

ที่จริงปัญหาที่เคยรุมเร้าเธอก็ยังอยู่ แต่ดูเหมือนเธอจะไม่ทุกข์เท่าเดิมแล้ว ทำให้ฉันนึกถึงภาษิตทิเบตที่คุณ “หนุ่มเมืองจันท์” เคยกล่าวถึงในหนังสือ “ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่” ว่า “หากปัญหานั้นแก้ไขได้ จะมัววิตกกังวลไปทำไม แต่ถ้าปัญหานั้นแก้ไขไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรที่จะวิตกกังวล”

ครูบาอาจารย์ฉันมักสอนลูกศิษย์ว่าชีวิตกับปัญหาเป็นของคู่กัน ไม่มีใครไม่เจอปัญหา อย่าคาดหวังว่าชีวิตจะไม่มีปัญหา แต่พอเรามีปัญหาแล้วใจไม่ชอบ อยากให้มันหาย มันก็เลยทุกข์ ทั้งที่จริงปัญหาบางอย่างก็แก้ได้ หรือบางอย่างก็คลี่คลายไปเองตามกาลเวลา ส่วนปัญหาไหนแก้ไม่ได้ก็รักษาใจไว้ อยู่ที่ใจของเราว่าจะเผชิญกับปัญหาด้วยใจที่เข้มแข็ง ด้วยใจที่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตไหมว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นอยู่เพียงชั่วคราว

ท่านสอนอีกว่ามีปัญหาอะไรอย่าฆ่าตัวตาย เดี๋ยวไม่นานมันก็ผ่านไปแล้ว

เมื่อลองมองย้อนไปในเหตุการณ์ที่เคยผ่านมา เวลาที่เราอยู่ท่ามกลางปัญหา เราจะจริงจังกับมันมาก ที่รู้สึกว่าทุกข์นานก็เพราะไม่ชอบมัน อยากให้มันผ่านไปเร็ว ๆ กลายเป็นเพิ่มทุกข์ให้ตัวเองเข้าไปอีก หลายคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้กันมาบ้าง

เพื่อนฉันเคยเล่าให้ฟังว่า เธออดทนต่อปัญหาและหาทางแก้ไปจนผ่านพ้นมาได้ ก่อนสรุปว่า “พอผ่านมันมาได้แล้วจะภูมิใจนะ แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งขึ้นด้วย”

บางคนเคยเผชิญปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ได้ ทุกข์ใจเต็มที ครูบาอาจารย์ท่านเมตตาให้คาถาไว้บทหนึ่ง ทำให้เขาอยู่กับปัจจุบันและผ่านเหตุการณ์แย่ ๆ มาได้ ท่านว่าอย่างนี้ค่ะ

2 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1533

 

Preset Colors