02 149 5555 ถึง 60

 

สมาร์ทไลฟ์ : A Road to “DIED” ความตาย...อัน (ไม่) พึงปรารถนา

สมาร์ทไลฟ์ : A Road to “DIED” ความตาย...อัน (ไม่) พึงปรารถนา

ดูออกจะสวนทางกับความรู้สึกทั่วไปของมนุษย์ที่มักจะหวาดกลัวต่อ “ความตาย” มากกว่าที่จะมองว่าความตายเป็นเรื่องอันพึงปรารถนา

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อตัวเลขของคนที่ต้องการเดินไปสู่ถนนแห่งความตายมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี!!

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก ระบุว่าทุกๆ 40 วินาที จะมีคน 1 คน ตัดสินใจฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น อายุ 15-29 ปี มากที่สุด รองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 8 แสนราย ในจำนวนนี้ 80% อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

จากการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ซึ่งอาศัยฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกในปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่าประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตาย ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ได้แก่ ลิทัวเนีย รองลงมา คือ รัสเซีย, กายอานา, เกาหลีใต้, เบลารุส, ซูรินาเม, คาซัคสถาน, ยูเครน, ลัตเวีย และ เลโซโท

ส่วนในเอเชียที่ติดอันดับ ก็มีทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ และ ไทย

สำหรับในประเทศไทย ตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปีละไม่ถึง 3,000 ราย ล่าสุดพุ่งไปถึง 4,000 รายต่อปีแล้ว

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี 2561-2562 พบเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 53.04%, ปัญหาจากสุรา 29%, โรคทางกาย 25.7% ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 19%, โรคทางจิต 12% และโรคซึมเศร้า 7.8%

ในปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดธีมในการรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตาย ว่า “Working Together to Prevent Suicide” หรือรวมพลังป้องกันการฆ่าตัวตาย เพื่อสะท้อนว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจกแต่เป็นปัญหาของมนุษยชาติ

แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เรียกว่า Disruption จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจหาทางออกให้กับปัญหาที่ตนเองไม่สามารถปรับตัวได้ด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งในภาวะของการดิ้นรนเพื่ออยู่รอดในสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านในทุกวันนี้

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทุกๆวันเราต้องเจอะเจอกับสถานการณ์ที่นำมาซึ่งแรงกดดัน ความเครียด และความไม่สมดุลในการใช้ชีวิต

ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันทันที รวมไปถึงความรุนแรงและการเมินเฉยต่อการช่วยเหลือเกื้อกูลที่มากขึ้น ทำให้คนมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่มากขึ้นทุกวัน

ชายวัย 35 ปีคนหนึ่ง บอกกับเราว่าถูกเลิกจ้างงานโดยไม่รู้ตัวมาก่อน ที่ผ่านมา ไม่เคยมีความคิดเรื่องที่จะฆ่าตัวตายมาก่อน แต่พอมาเจอเรื่องหนักๆที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว ก็มีบ้างในบางครั้ง ที่รู้สึกว่าความตาย น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ขณะที่คนวัยเกษียณจำนวนไม่น้อย ที่มีทั้งปัญหาสุขภาพรุมเร้า หนี้สิน และเงินทองที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ก็เป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย

วรรณกรรมบางเล่มพูดถึงการตัดสินใจฆ่าตัวตายว่า เป็นความรู้สึกหวาดกลัวและสะท้อนพฤติกรรมที่อาจตีความได้ว่าเกี่ยวข้องกับความสิ้นหวัง (hopelessness) ในชีวิต และมีเพียงคนแบบเดียวกันเท่านั้นที่จะเข้าใจ เป็นลักษณะของปัจเจกบุคคลที่ขาดความค้ำจุนทางอารมณ์ ความรู้สึกจากการขาดที่พึ่งทางใจและรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงทำให้ปัจเจกบุคคลโดดเดี่ยวและกลายเป็นคนที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดอยากฆ่าตัวตายและนำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จในเวลาต่อมา

ข้อความดังกล่าว อธิบายความเชื่อมโยงการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมาของพลวัตตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของซิกมันด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เกิดจากสาเหตุการสูญเสียการทำงานของจิตสำนึก (distubance of ego functioning) และการปรับตัวที่ผิดปกติ

ทุกวันนี้ เรามีเครื่องมือสื่อสารถึงกันมากมาย มี Social Media ที่เชื่อมคนทั้งโลกเข้าหากัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากลับรู้สึกว้าเหว่ ท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต และอ่อนไหวมากขึ้น ความผูกพันต่อคนในครอบครัวและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง เกิดปัญหาสัมพันธภาพที่หยั่งรากลึกเกินเยียวยา และนั่นคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะคือว่านั่นเป็นทางออกทางเดียวที่มีอยู่

ในทางสถิติ เราไม่อาจบอกได้ว่า จะสามารถลดการฆ่าตัวตายลงได้มากน้อยแค่ไหน แม้จะมีการตั้งเป้าหมายให้จำนวนคนฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงเรื่อยๆ

แต่ในทางสังคมจิตวิทยาแล้ว การฆ่าตัวตายจะลดลง ถ้าคนในสังคมสนใจและใส่ใจกันมากขึ้น นั่นคือจุดเริ่มของการลดขนาดของปัญหาการฆ่าตัวตายในโลกลงได้อย่างแน่นอน.

28 October 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1127

 

Preset Colors