02 149 5555 ถึง 60

 

สำรวจพบคลายล็อกเฟส 3 คนไทยรู้สึก “เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า-อยากทำร้ายตัวเอง” เพิ่มขึ้น

สำรวจพบคลายล็อกเฟส 3 คนไทยรู้สึก “เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า-อยากทำร้ายตัวเอง” เพิ่มขึ้น

กรมสุขภาพจิต สำรวจพบ ผ่อนปรนเฟส 3 คนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า-อยากทำร้ายตัวเอง เพิ่มขึ้น หลังลดลงช่วงคลายล็อกเฟส 1-2 เหตุกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ แต่เป็นนิวนอร์มัล พบยังกังวลเกีย่วกับโรค แม้ไทยไม่มีติดเชื้อในประเทศ แนะสร้างพลังใจด้วยอึดฮึดสู้

วันนี้ (17 มิ.ย.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ มีการสำรวจสภาพจิตใจคนไทยช่วงโควิด-19 มาแล้ว 6 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มการระบาด ช่วงประกาศเคอร์ฟิว ช่วงสงกรานต์ ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 1 ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 และ ช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยสำรวจ 4 เรื่อง คือ ความเครียด ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้า และทำร้ายตัวเอง พบว่า ในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงต้นปลาย พ.ค. 2563 พบว่า ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า และทำรายตัวเองเพิ่มมากขึ้น

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า อย่างเรื่องความเครียด บุคลากรทางการแพทย์ มีความเครียดช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 7.9% เมื่อเทียบกับระยะที่ 1 อยู่ที่ 5.6% และระยะที่ 2 อยู่ที่ 4.8% แต่ยังน้อยกว่าช่วงเริ่มการระบาด ขณะที่ประชาชนทั่วไปเครียดมากขึ้นในช่วงสำรวจครั้งที่ 2 แต่ค่อยๆ ลดลง โดยผ่อนปรนระยะที่ 1 เครียด 2.9% ระยะที่ 2 เครียด 2.7% แต่ผ่อนปรนระยะที่ 3 เครียดเพิ่มขึ้น 4.2% ส่วน “ภาวะหมดไฟ” พบว่า ลดลงในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 แต่กลับเพิ่มขึ้นในผ่อนปรนระยะที่ 3 เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขเมื่อการระบาดลดลง ผู้ป่วยทั่วไปเรื้อรังกลับเข้ามา ทำให้ภาระงานมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนประชาชนเพราะคนไทยพยายามต่อสู้กับความยากลำบากต่างๆ

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ด้านซึมเศร้า การผ่อนปรนระยะที่ 3 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจาก 1.4% เป็น 3% ประชาชนซึมเศร้าเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.6% เช่นเดียวกับความคิดอยากทำร้ายตนเอง ก็มีมากขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 แต่ตรงนี้เพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 0.6% ในครั้งที่ 5 เป็น 1.3% ในครั้งที่ 6 ส่วนประชาชนเพิ่มจาก 0.7% ในครั้งที่ 5 เป็น 0.9% ในครั้งที่ 6 แต่ก็ต้องพึงระวัง ประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อไป

“ภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า อยากทำร้ายตนเอง ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 เนื่องจาก ยิ่งผ่อนปรนระยะที่ 3 ยิ่งกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ แต่เป็นปกติที่ไม่เหมือนเดิม เพราะต้องระวังมากขึ้น ไปห้างก็ต้องเช็กอิน ใช้บริการขนส่งสาธารณะก็ต้องเว้นระยะห่าง ต้องระวังตัวอยู่ เป็นเรื่องสำคัญทำให้คนไทยมีภาวะเครียด หมดไฟ ซึมเศร้า” นพ.จุมภฏ กล่าวและว่า จะสังเกตได้ว่า ภาวะทางอารมณ์คนเราการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน แสดงว่า พวกเราหรือคนใกล้ชิดบางช่วงอาจดูเหมือนปกติ ก็ต้องสังเกตอารมณ์ปฏิกิริยาตนเองและคนรอบข้าง มีอะไรเครียด ซึมเศร้า อยากทำร้ายตัวเองหรือไม่ เช่น ซึมลง พูดน้อยลง หงุดหงิดมากขึ้น นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติดมากขึ้น ถ้าเกิดอาการแบบนี้กับตัวเอง เห็นกับคนรอบข้าง ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทร. 1323

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ส่วนการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ/สังคม พบว่า ทั้งบุคลากรและประชาชนรู้สึกกังวลว่าหากติดเชื้อแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการรับรู้ข่าวสาร มีความกังวลเพิ่มขึ้นในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 3 แม้การระบาดเมืองไทยลดลง แต่การระบาดในกลุ่มคนไทยที่กลับจากต่างประเทศยังขึ้นๆ ลงๆ และข่าวสารการระบาดในต่างประเทศยังไม่ลดลง ทำให้คนไทยอาจจะยังกังวลอยู่ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุข พบว่า มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นในระบบสาธารณสุขจังหวัดของตนเอง

ด้าน นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง ผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เราไม่ได้เจอวิกฤตโควิดแค่ครั้งแรก แต่อาจเคยเจอน้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจมากมาย บางคนท้อแท้ บางคนดิ้นรนผ่านไปได้ บางคนก้าวหน้าขึ้น ซึ่งการปรับตัวก้าวข้าม เปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อเจอภาวะวิกฤต หลายครั้งรับมือด้วยวิธีคิดวิธีการบางอย่าง ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ จากการที่กรมฯ เรียนรู้จากบุคคลที่ผ่านพ้นวิกฤตมาเรียบเรียงรวบรวมเป็นวิธีการและทักษะบางอย่างที่เรียกว่า “พลังใจ” โดยมุมมองที่ทำให้เกิดพลังใจ มี 3 มุมมอง คือ 1. มองว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาคนเดียว คือ มีเพื่อนร่วมทุกข์ ก็จะรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เรายังมีเพื่อนและอาจผ่านพ้นไปด้วยกัน 2. มองว่าเมื่อเราปรับเปลี่ยนเรียนรู้อาจสร้างโอกาสสำคัญในชีวิตได้ เช่น ประหยัดมากขึ้น ทำงานเสริม 3. มองด้านบวก มองทรัพยากรสัมพันธภาพสิ่งดีงามรอบตัว

นพ.เทอดศักดิ์ กล่าวว่า พลังใจหมายถึงพลังที่ใช้ในการเผชิญปัญหาอุปสรรค เรียกง่ายๆ ว่า อึดฮึดสู้ โดย “อึด” หมายถึงเข้มแข็งอดทนมั่นใจตนเองเอาชนะอุปสรรคได้ “ฮึด” หมายถึงมีกำลังใจ มีแรงใจดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่มาจากคนรอบข้าง คนในครอบครัว คนที่เรารักเคารพ และ “สู้” หมายถึงเอาชนะอุปสรรค ปัญหาอาจต้องการวิธีคิดแก้ ทักษะการจัดการปัญหา

18 June 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1070

 

Preset Colors