02 149 5555 ถึง 60

 

ถึงเวลายกเลิก "ห้องคิง" หมอออกปากเตือน ยิ่งแข่งขัน-ยิ่งกดดัน-เด็กยิ่งเสี่ยงฆ่าตัวตาย!!

ถึงเวลายกเลิก "ห้องคิง" หมอออกปากเตือน ยิ่งแข่งขัน-ยิ่งกดดัน-เด็กยิ่งเสี่ยงฆ่าตัวตาย!!

ยกเลิกห้องคิง-ควีน จะดีต่อเด็ก!!? เปิดใจ “หมอเดว” เด็กเครียด-ฆ่าตัวตาย เป็นการส่งสัญญาณเตือนสังคม นี่คือปัญหาความกดดันจากเรื่องการเรียน พร้อมสับเละระบบการศึกษาไทย เด็กเรียนเพื่อมุ่งหวังเอาชนะ!!?

ยกเลิกห้องคิง ลดแรงกดดัน!!

“ทัศนคติของหมอ หมออยากจะให้ยกเลิกห้องคิง-ควีนให้หมดเลย” หมอเดว-รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live หลังพบนักเรียนชั้น ม.5 คว้าปืนยาวพ่อ ลั่นไกคิดสั้นกรอกปากตัวเอง

โดยตำรวจคาดคิดมากเรื่องการเรียน กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน จนเป็นสาเหตุปลิดชีพลาโลกใบนี้ ล่าสุด พบว่า กระสุนฝังคอ บาดเจ็บสาหัส อาการโคม่า

เพื่อความชัดเจนถึงประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เขาช่วยสะท้อนปัญหาการศึกษา จนเด็กมีภาวะความกดดันเรื่องการเรียน เพราะระบบที่มีการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับการเป็นคนเก่ง ส่งให้เด็กเกิดภาวะซึมเศร้า

“หมอเคยเจอหลายเคส โรงเรียนแต่ละโรงเรียนดังทั้งนั้น และเด็กเรียนระดับมัธยม และประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่แย่มาก

กรณีที่ 1 คือ ครูชอบหาช้างเผือก โดยใช้วิธีการประกาศเกรดต่อหน้าชั้นเรียน การประกาศเกรดต่อหน้าชั้นเรียน มันเป็นแรงกดดันให้แก่เด็กที่จะต้องพยายามเอาชนะซึ่งกันและกัน แพ้กันไม่ได้

เพราะอย่าลืมว่าระดับวัยรุ่นเขาไม่เข้าใจหรอก เขาอาจจะบูลลี่กัน ล้อเลียนกัน เหน็บแนมกัน อย่างหมอเคยมีเคสที่เด็กคนหนึ่งถูกสบประมาทจากเพื่อนกันเองว่า อีอ้วน โง่ ทั้งๆ ที่เด็กในเกรด 3.7 แต่มันกลายเป็นที่โหล่ของห้องคิง ของโรงเรียนที่ว่า

คำถามคือเด็กรู้ เพื่อนกันเองรู้ได้ เพราะคุณครูประกาศหน้าชั้น และเด็กก็เกิดภาวะซึมเศร้า เกิดแรงกดดัน อันนี้คือคราวเคราะห์ที่ 1

ถ้ามาประจวบเหมาะกับครูไปสะท้อนให้แก่พ่อแม่ด้วยว่า ลูกยังขาดความรับผิดชอบ ชอบเหม่อลอย และอยากจะให้เร่งกว่านี้ ในเวลาที่ครูพบผู้ปกครอง แล้วผู้ปกครองก็จะพยายามบากหน้ากัน แข่งขันกันระหว่างผู้ปกครองกันเอง ซึ่งผู้ปกครองไปกดดันเด็กด้วย

ถ้าเจอ 2 เด้งอย่างนี้ ก็คงเป็นคราวเคราะห์กรรมของเด็กจริงๆ ว่ามันไม่มีที่พึ่ง เขาก็พึ่งไม่ได้ เพื่อนที่อยู่ข้างในห้องเดียวกัน ก็เกทับ คือ เป็นการสู้กันระหว่างระบบแพ้คัดออก เพื่อนกับเพื่อนเองไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

คนที่เรียนเก่งกว่าถ้าไปเจอเด้งที่ 3 ด้วย คือ เพื่อนที่เห็นแก่ตัว คือ กั๊ก ไม่บอกเทคนิค ไม่บอกทักษะ ไม่บอกการบ้าน ไม่ติวให้ ไม่มีการเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อันนี้กรณีที่ 3 คือ ระบบนิเวศของเด็กถ้ามีปัญหา เด็กมีปัญหาแน่นอน”

ไม่เพียงเท่านี้ หมอเดว ยังสะท้อนต่ออีกว่า หากยกเลิกคำว่าห้องคิง แรงกดดันสำหรับเด็กจะมีอัตราที่ลดลง และควรเพิ่มเวลาชีวิตของเด็ก ให้มีปฏิสัมพันธ์ รู้จัก การช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน

“ณ ขณะนี้ ในระบบการศึกษาที่เป็นระบบแพ้คัดออก ของระบบปัจจุบัน มันเป็นระบบทารุณกรรมเด็กอยู่แล้ว ตอนนี้คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ไปเปิดใจตัวเองหน่อยเถอะ ข้อสอบของท่านออกข้ามชั้นปีทั้งนั้น หรือไม่อย่างนั้น คือ ไปออกให้มันยากๆ เพื่อให้เกิดผู้แพ้ เพื่อให้เกิดการตัดข้อสอบกันได้ หมายถึงว่าจะได้ตัดเกรดอะไรต่างๆ เหล่านี้ได้ มันก็ต้องออกให้ยาก เด็กก็พยายามปีนป่าย เพื่อที่จะไปสู่

มันกลายเป็นระบบอุตสาหกรรมการศึกษา ที่หมอใช้คำว่ามันเข้าวนลูบแบบเดิมๆ ทั้งๆ ที่เกิดน้อยลง ความจริงเด็กเกิดน้อยลง ถ้าบริหารจัดการกันดีๆ และเข้าสู่ New normal ให้เกิดการเรียนรู้ว่า วิชาชีพทุกวิชาชีพมันมีทักษะอาชีพ

คือ ถ้าระบบมันยังเป็นอยู่แบบนี้ หมอใช้คำว่าระบบนี้มันกำลังทารุณกรรมเด็กและมันก็จะเห็นวิถีชีวิตอยู่อย่างหนึ่ง ตัวอย่าง หมอมีเคสเยอะครับ ตื่นตี 5 ล้อหมุน 6 โมง กินข้าวเช้าบนรถ แล้วก็มาหลับนอน ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนเช้า

มีการบ้านเช้า พอเริ่มต้นเรียน ก็เรียนหนักต่อเนื่อง บางโรงเรียนถ้าห้องคิง ห้องควีนแบบนี้ สอนข้ามชั้น การบ้านเป็นของข้ามชั้น เสร็จแล้วเด็กตอนเย็นก็ต้องลงไปกรวดวิชากันต่อ แล้วก็ไปทำการบ้าน เสร็จเกือบเที่ยงคืน การบ้านครูที่ให้ก็ให้นึกว่าเรียนวิชาแกวิชาเดียว คือ แต่ละคนเทกระจาดการบ้าน แล้วไปทบกันวันศุกร์ หนักเข้าไปอีก”

ลดค่านิยม เชิดชูคนเรียนเก่ง!!

เมื่อถามผู้เชี่ยวชาญถึงการเรียนออนไลน์ และความไม่พร้อมของการศึกษาไทยช่วงโควิด-19 เป็นหนึ่งปัญหาทำให้เด็กเครียด และกดดันเรื่องกาเรียนมากขึ้นหรือไม่ เขาให้คำตอบไว้ว่า ระบบการเรียนออนไลน์ในไทยมีส่วนทำให้เด็กตึงเครียด

“ระบบการศึกษาบ้านเรามันแปลกมาก นอกจากจะเรียนในระบบออนไลน์ไม่พอ Hard copy (สำเนาถาวร) paper work ก็ต้องมาเยอะพอกัน กับที่เรียนระบบออนไลน์ด้วย คือ พูดง่ายๆ คือ ดูโอ้

หนักทั้งที่ไปนั่งเรียนในห้องเรียน แล้วก็ผ่านการบ้าน ผ่านระบบดิจิทัลมา เสาร์อาทิตย์อาจจะสั่งงานข้ามเสาร์อาทิตย์เลยก็มี อันนี้มันหนัก แล้วตึงเครียด

หมอเห็นแล้วเข้าใจได้เลยว่า เวลาที่เด็กโดนบูลลี่ แล้วเพื่อนกันเองบูลลี่ บวกกับอินเนอร์ของเขาเอง ก็อาจจะเป็นคนที่เก็บกด เป็นประเภทมนุษย์ introvert (เก็บตัว) คือ ไม่ได้คบค้าสมาคมกับเพื่อน ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แล้วยิ่งจัดการกับความเครียดไม่เป็น บวกกับความคาดหวังของพ่อแม่

บวกกับแรงกดดันจากโรงเรียน แล้วระบบแพ้คัดออกทุกอย่างจะสุกงอม พอมันรั่วแต่ละที่เยอะมาก หนักๆ เข้า เด็กพึ่งใครไม่ได้เลย

อย่างไรก็ดี หมอเดวยังให้คำแนะนำ ที่อยากสะท้อนให้ดังไปถึงพ่อแม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากให้ทุกฝ่ายเปลี่ยนแปลงค่านิยม โดยการไม่เชิดชูคนเรียนเก่ง หันมาเยียวยาใส่ใจลูกหลานของตัวเองให้มากขึ้น

โดยสิ่งที่จะทำได้ คือ 1.ระบบต้องกลับไปทบทวนระบบแพ้คัดออกของระบบของตนเอง 2.เรื่องของห้องคิง ควีน ต้องกลับไปทบทวนใหม่ 3.การเชิดชู ควรเชิดชูคนดี มีพฤติกรรมที่ดีกลับ 4.แม้แต่เรื่องเกรดนิยมอันดับ 1 ในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ให้ดูกันเฉพาะที่เกรด ที่ต้องเป็นคนที่มีกิจกรรมสู่ส่วนรวม

5.ในระดับของครู เลิกประกาศเกรดกันหน้าชั้น ให้กลายเป็นความลับส่วนตัว 6.ไปเคลียร์พฤติกรรมของเพื่อนกันเองว่าคนที่รู้จัก ในการแบ่งปัน คือ คนดี 7.ปรับสมาคมผู้ปกครองและครู ให้รู้จักในการแบ่งปัน ซึ่งกันและกัน และให้เวลาแก่ลูกๆ สำหรับวิชาชีวิต

“จะเห็นเลยว่าระบบจะต้องไม่ทำให้กลายเป็นห้องคิง ควีน ที่มาแบ่ง แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ครูต้องส่งสัญญาณให้ชัดเลยว่า ทุกคนต้องรู้จักในการเอื้ออาทร แล้วเราจะไม่มาพูดถึงเรื่องเกรดกัน

แต่เราจะมาพูดถึงเรื่องของการแบ่งปัน ซึ่งมีน้ำใจในการช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่มีการว่าเด็กหลังห้อง เด็กหน้าห้อง ยิ่งถ้าไม่มีห้องคิงควีนได้ เป็น Main streaming ได้อันนี้สุดยอด

แล้วก็ ยกเลิกของการขึ้นป้ายคัตเอาต์เหรียญทอง คว้าเหรียญกันเป็นว่าเล่นทั้งหลาย อันนี้ไม่ใช่หมายถึงว่าคนดี แล้วไม่ต้องทำ ทำดีมันคนละเรื่องกับเรียนเก่ง โรงเรียนไม่ต้องมาเชิดชูเพียงแค่ว่า เป็นเพราะโรงเรียนได้เหรียญทองสารพัดอย่าง

อันนี้ต้องลดค่านิยมไป สุดท้ายสมาคมผู้ปกครองและครู ควรจำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันปรับ mindset ระหว่างพ่อแม่ เพื่อลดแรงเสียดทาน จะไม่มีการแบ่งเป็นก๊วน”

สุดท้ายหมอเดว ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงระบบการศึกษาไทย เป็นเหตุทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กมีเพิ่มสูงเช่นกัน โดยเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นไปทบทวน

“ทุกวันนี้กลับไปทบทวนดู ที่เด็กทั้งหมดกับการมุ่งเรียนกันอยู่นั้น บนสนามแพ้คัดออก ตกลงกำลังเรียนกันด้วยศรัทธา หรือกำลังเรียนเพียงเพื่อมุ่งหวังเอาชนะกัน”

16 October 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1752

 

Preset Colors