02 149 5555 ถึง 60

 

อาการ การป้องกัน และการรักษา โรค COVID-19 ในเด็ก

อาการ การป้องกัน และการรักษา โรค COVID-19 ในเด็ก

สุขภาพดีกับรามาฯ : ผศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

ปัจจุบันเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยก็มีผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เช่นกัน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนน้อยเป็นเด็ก

ในประเทศไทย พบเด็กอายุน้อยที่สุดที่เป็นโรค COVID-19 คืออายุ 1 เดือน และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตในเด็ก ข้อมูลในประเทศไทยล่าสุดพบว่า ในจำนวนผู้ป่วย COVID-19 ทั้งหมด มีเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี เพียง 2.5% และในเด็กอายุ 11-20 ปี 5.7% ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 21-40 ปี พบมากถึง 50%

อาการของโรค COVID-19 ในเด็ก

เด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง อาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ (มีการประมาณกันว่าเด็กติดเชื้อแต่ไม่มีอาการอาจพบได้ถึง 50%) ทั้ง ๆ ที่การศึกษาพบว่าปริมาณไวรัสในโพรงจมูกของเด็กกับของผู้ใหญ่อาจไม่ต่างกันเลย นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการรับเชื้อหรือการแพร่เชื้อก็ไม่ต่างจากในผู้ใหญ่ ระยะฟักตัวของเชื้อคือ 2-14 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 6 วัน

อาการที่พบได้ เช่น ไข้ อาการหวัด ปอดอักเสบ จมูกไม่ได้กลิ่น ปวดเมื่อยตามตัว ถ่ายเหลว เหมือนในผู้ใหญ่ ในประเทศไทยยังไม่พบเด็กที่เป็น COVID-19 แล้วมีอาการรุนแรง ส่วนในต่างประเทศพบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลจากโรคนี้ในเด็กต่ำกว่าในผู้ใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเด็กอายุน้อย โดยเฉพาะเด็กวัยทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด เด็กที่มีภาวะอ้วน เด็กที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงได้

ในต่างประเทศ เด็กที่เคยเป็นโรค COVID-19 แล้ว ต่อมาภายใน 1 เดือนอาจมีอาการอวัยวะหลายระบบทำงานผิดปกติ ที่เรียกว่า MIS-C กล่าวคือจะมีไข้ ปวดท้อง การทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบหลอดเลือด ระบบหายใจ การทำงานของไตผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ยังไม่เคยพบในเด็กไทย

เด็กที่เป็นโรค COVID-19 มักเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่เป็นโรค COVID-19 ต่างจากผู้ใหญ่ที่มักจะรับเชื้อจากภายนอก แต่ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นก็อาจจะติดเชื้อจากข้างนอก เช่น การไปในสถานที่แออัด ดังนั้น แพทย์จะสงสัยโรคนี้ในเด็กเมื่อเด็กมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรค เมื่อแพทย์สงสัยก็จะทำการตรวจยืนยันโดยการนำสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR (วิธีการเดียวกับการตรวจหาเชื้อในผู้ใหญ่)

พฤติกรรมที่ทำให้เด็กเสี่ยงติด COVID-19

พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหรือได้รับเชื้อที่สำคัญที่สุด คือ การสัมผัส เช่น คนที่ไม่สบาย ไอ จาม แล้วเสมหะหรือน้ำมูกนั้นไปตกอยู่ตามพื้น ตามโต๊ะ ตามภาชนะ แล้วเด็กไปหยิบไปจับ แล้วเอามือมาป้ายจมูก ป้ายตา ป้ายปาก อีกทางที่ติดได้คือการอยู่ใกล้กัน เช่น ถ้าเด็กอยู่ห่างจากผู้ใหญ่น้อยกว่าสองเมตรแล้วผู้ใหญ่ไอ จาม หรือคุยกันในระยะใกล้ โดยที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากาก เด็กก็มีโอกาสรับละอองฝอยที่มีเชื้อนั้นไปได้

ดังนั้น ถ้าคนเลี้ยงเป็นโรค COVID-19 จะนำเชื้อมาติดเด็กได้ง่าย เพราะมีความใกล้ชิดเด็กตลอดเวลา นอกจากนี้ การรับประทานอาหารโดยไม่ใช้ช้อนกลางอาจมีน้ำลายปนเปื้อนอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกันก็มีโอกาสติดได้ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะเป็นช่องทางหลัก ๆ ที่จะสามารถติดเชื้อได้ แต่ไวรัสตัวนี้นั้นไม่ได้ติดจากแผล ไม่ติดจากการแค่สัมผัสผิวหนัง ไม่พบเชื้อไวรัสในน้ำปัสสาวะ แต่พบในน้ำลาย น้ำตา และน้ำมูก เสมหะ

การดูแลป้องกันเด็กไม่ให้ติด COVID-19

การดูแลป้องกันเด็กไม่ให้เป็นโรค COVID-19 นั้น ส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ ดังที่กล่าวข้างต้นว่าเด็กนั้นติดจากผู้ใหญ่ ฉะนั้น ผู้ใหญ่ต้องดูแลตัวเองไม่ให้รับเชื้อเข้ามา โดยดูแลตัวเองในเรื่องสุขลักษณะ การกินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด พยายามมีระยะห่างระหว่างคนอย่างน้อย 2 เมตร ล้างมือบ่อย ๆ หากไม่มีแอลกอฮอล์เจล การล้างมือโดยใช้สบู่ก็สามารถกำจัดเชื้อตัวนี้ได้อย่างดี ถ้าต้องออกไปข้างนอกก็สวมหน้ากากเสมอ หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่แออัด ต้องล้างมือก่อนสัมผัสตัวเด็ก ถ้าพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการรับเชื้อมาแล้ว ควรกักตัวเอง ไม่ไปเล่นกับเด็ก ไม่ไปจูบ หรือหอมแก้มเด็ก

ส่วนวัยรุ่น เวลาออกนอกบ้านให้พกแอลกอฮอล์เจล ล้างมือบ่อย ๆ หลังไปสัมผัสกับพื้นผิวที่มีคนมาสัมผัสมาก ๆ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่แออัด

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการแพร่ระบาดในโรงเรียนพบได้น้อย ส่วนมากมักเป็นจากผู้ใหญ่ในโรงเรียนแพร่ให้เด็ก ในประเทศไทยยังไม่พบการระบาดใหญ่ในโรงเรียน ซึ่งต่างจากไวรัสตัวอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV

การรักษาโรค COVID-19 ในเด็ก

ในประเทศไทย ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น COVID-19 ทุกรายจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ และป้องกันการแพร่เชื้อต่อ การรักษาส่วนใหญ่รักษาตามอาการ สำหรับยาต้านไวรัสจะใช้ในกรณีที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง เช่น มีอาการปอดอักเสบ ส่วนวัคซีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และปัจจุบันยังไม่ได้แนะนำให้ใช้ในเด็ก

3 February 2564

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1193

 

Preset Colors