02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กเกิดน้อย ต้องเพิ่มคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ

เด็กเกิดน้อย ต้องเพิ่มคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ

“ปั๊มลูกเพื่อชาติ” – ใครจะคิดได้ว่าเรามาถึงยุคที่ต้องมีนโยบายเยี่ยงนี้กันแล้ว...

ข้อมูลทางสถิติย้อนหลัง 3 ปีที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า ปี 2563 จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 600,000 คนเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมค่านิยมอยู่เป็นโสด ทั้งโสดแบบตั้งใจ และไม่ตั้งใจ แต่งงานช้า บางคนกังวลเรื่องคนช่วยเลี้ยงลูก กังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน จึงชะลอการมีลูก บางครอบครัวมีลูกน้อยลง หรือไม่ต้องการมีลูกเลย

รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้น โดยจัดกิจกรรมโสดมีตติ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้คนโสดที่รอเนื้อคู่ได้พบปะพูดคุย เปิดใจและได้เรียนรู้ในการสร้างมิตรภาพต่อกัน พร้อมทั้งให้คู่รักที่ต้องการมีบุตร ได้ลุ้นรับคูปองตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร การตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก การเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากจากโรงพยาบาลที่ให้การสนับสนุนโครงการ รวมถึงการมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท

เรียกว่าเป็นการตื่นตัวอีกครั้งในการกระตุ้นและจูงใจให้หนุ่มสาวมีลูก จนมีวาทกรรมว่า “วิวาห์สร้างชาติ” และ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ”

ความจริงปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลก

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า อัตราการเกิดต่ำเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศที่งานวิจัยระบุว่า อีก 80 ปีข้างหน้า คนไทยจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน ซึ่งเมื่อเด็กเกิดน้อย สิ่งที่ตามมาคือ คนวัยทำงานลดน้อยลง จนไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ประสบปัญหานี้และมีนโยบายมากมายล่วงหน้าไปก่อนบ้านเรามานานพอสมควร อาทิ

ประเทศจีนเคยมีนโนบายมีลูกคนเดียว ก็ผ่อนปรนมาได้ 5 ปีแล้ว เพราะผู้สูงอายุมากขึ้น ขาดแคลนแรงงาน จึงได้ออกนโยบายให้มีลูกมากกว่า 2 คน โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการการเลี้ยงเด็ก

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายมากมายเพื่อกระตุ้นคนในชาติ ในท้องถิ่นของญี่ปุ่นบางเมือง ประกาศให้เงิน 1 ล้านเยน หรือ 200,000 บาท ให้ครอบครัวที่มีลูกคนที่ 4

ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้มีการแจกเงินให้ทารกแรกเกิดถึง 1 ขวบ 300,000 วอน หรือกว่า 8,000 บาท ทุกเดือน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ได้ 1 ล้านวอน หรือราว 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายเตรียมคลอดอีกครอบครัวละ 2 ล้านวอน หรือราว 60,000 บาท

ศาสตราจารย์ดู ซับ คิม นายกสมาคมประชากรแห่งเอเชีย เคยกล่าวในงาน “สานพลังเพื่ออนาคตประเทศไทย: ยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” ในประเทศไทยว่า ประสบการณ์จากเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเคยมีปัญหาการเกิดที่น้อยลงอย่างรวดเร็วหลังจากประสบเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พบว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ของทั้ง 2 ประเทศต่ำลง เนื่องจากเศรษฐกิจย่ำแย่และความไม่มั่นคงในตลาดแรงงาน มีความเสมอภาคทางเพศเพิ่มขึ้น มีความมุ่งมั่นต่อจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ไม่ใช่เรื่องการมีลูกเท่านั้น ความยุ่งยากในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตร ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายของการศึกษาบุตรที่สูงมาก ส่วนปัจจัยด้านประชากรพบว่า มีการเลื่อนอายุการแต่งงาน การครองโสด และการหย่าร้างเพิ่มขึ้น มีช่องว่างที่ขยายกว้างขึ้นระหว่างความต้องการมีบุตรและการมีบุตรจริง

ดังนั้นจึงมีการปรับนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประชากรในเกาหลีมีบุตรเพิ่มขึ้น ในปี 2549 และไต้หวันเริ่มมีนโยบายดังกล่าวในปี 2551 แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงต้องมีนโยบายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการมีบุตร ได้แก่ การให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือให้พ่อแม่สามารถทำงานและเลี้ยงดูบุตรได้พร้อม ๆ กัน โดยเพิ่มสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เพิ่มการกำหนดเวลาลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรให้ยาวขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมที่เป็นมิตรกับครอบครัวและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งการขยายความช่วยเหลือในการมีบุตรและการให้กำเนิดบุตร โดยส่งเสริมการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ ให้บริการบุคลากรช่วยเหลือหลังคลอดบุตร และให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีบุตรยากด้วย

ในขณะที่โครงสร้างประชากรในบ้านเรากำลังจะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ตามประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ในโลกที่กำลังเผชิญอยู่

การก้าวขึ้นสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาหนักที่เผชิญควบคู่ไปด้วย ก็คือ ประชากรในชาติไม่ต้องการมีลูก รัฐบาลนั้น ๆ จึงมีนโยบายกระตุ้นให้คนในชาติมีลูก เป็นการส่งเสริมคนในชาติ เพื่อให้เกิดสังคมที่สมดุลในชาติของตน มิเช่นนั้น ก็ต้องเผชิญการขาดแคลนผู้คนในวัยแรงงาน วัยหนุ่มสาวที่ต้องเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

ในขณะที่ประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน เพียงแต่สภาพปัญหาของเรา แตกต่างจากชาติที่เขาเตรียมความพร้อมกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน

ปัญหาใหญ่ของบ้านเราในขณะนี้ ก็คือ ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เด็กเกิดน้อยลงมาก แต่มีประเด็นเพิ่มเติมอีก ก็คือ เด็กที่เกิดน้อยนั้นยังด้อยคุณภาพอีกจำนวนไม่น้อย

โครงสร้างและรูปแบบเปลี่ยนไป ยังพอจะหาแนวทางอื่น ๆ ทดแทนในเชิงโครงสร้างได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่บ้านเรากำลังเผชิญ

ปัญหาเด็กด้อยคุณภาพที่ทำให้บ้านเรากำลังเผชิญปัญหาหนักมากเรื่องสภาพสังคมและโครงสร้างของประชากรที่กำลังเข้าสู่วิกฤตสังคมครั้งใหญ่ พอจะประมวลมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

กลุ่มแรก – ท้องไม่พร้อม

คนที่พร้อมก็ไม่ท้อง ส่วนคนไม่พร้อมกลับท้อง และแน่นอนปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย แม่ของเด็กไม่มีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก ต้องปล่อยให้อยู่กับผู้อื่น และเด็ก ๆ ที่เกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อม ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา พฤติกรรม และสังคม มากกว่าเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม

กลุ่มสอง – ครอบครัวไม่พร้อม

มีทั้งกลุ่มที่หย่าร้าง และกลุ่มที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง สิ่งที่ตามมาก็คือ พ่อแม่ต้องใช้ความพยายามและความหนักแน่นในการเลี้ยงดูลูกอย่างมาก เพราะบางคนต้องทำมาหากินด้วย บางคนสามารถจัดการปัญหา และรับมือได้ดีก็เป็นเรื่องดี แต่บางคนก็ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เด็กก็มีความเสี่ยงที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ

กลุ่มสาม – ขาดความรู้

กลุ่มนี้เกิดขึ้นกับทั้งกลุ่มพ่อแม่ที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน และมีปัญหาทางการเงิน

กรณีที่มีความพร้อมทางการเงิน มีไม่น้อยที่เลี้ยงลูกแบบตอบสนองทุกอย่าง ตามใจลูก เพราะอาจชดเชยเรื่องที่ไม่มีเวลาให้ลูก หรือเลี้ยงลูกด้วยเงิน หรือเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ถูกวิธี อาจตามใจสุดฤทธิ์ หรือบังคับเกินไป ขีดเส้นให้ลูกเดิน ฯลฯ

ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ รวมถึงขาดโอกาสต่างๆ ที่จะพัฒนาทักษะชีวิต หรือโอกาสทางการศึกษา

ลองคิดดูว่าในเมื่อโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไป แต่ถ้าบ้านเราต้องเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่ยังด้อยคุณภาพอีก แล้วสถานการณ์บ้านเราจะเป็นอย่างไร

นโยบายต่าง ๆ ไม่ควรเพียงกระตุ้นให้คนมีลูกเท่านั้น แต่สิ่งที่ภาครัฐควรต้องมี คือมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการทำให้พ่อแม่เข้าถึงข้อมูลการเลี้ยงดูเด็กที่มีคุณภาพ การเอื้อให้พ่อแม่ได้เลี้ยงลูกเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปฐมวัย การเอื้อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก และการสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เด็กเกิดน้อยต้องเพิ่มคุณภาพไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียว

รัฐจึงไม่พึงเสนอ “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” สถานเดียว แต่ต้องมีนโยบายแวดล้อมให้ลูก ๆ ของคนไทยที่ออกมานั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปี่ยมคุณภาพด้วยไม่ว่าจะยากดีมีจน

18 February 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 5095

 

Preset Colors