02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จัก “โรคแพนิค” โรคที่ไม่ได้มีแค่นิสัยขี้ตกใจ

รู้จัก “โรคแพนิค” โรคที่ไม่ได้มีแค่นิสัยขี้ตกใจ

โรคแพนิค (Panic Disorder) ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบัน ยิ่งในยุคข่าวสารบ้านเมืองไปไวมาไวแบบนี้ อาการตื่นตระหนกตกใจก็เกิดขึ้นถี่ยิ่งกว่าดอกเห็ด แต่รู้ไหมว่าอาการที่เราชอบพูดกันว่า “อย่ามาแพนิคนะ” แท้จริงแล้วมันคือโรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติ และโรคแพนิคนี้ก็ไม่ใช่แค่นิสัยขี้ตระหนกตกใจ อย่างที่ชาวเน็ต ชาวโซเชียลยุคนี้เป็นกันด้วย

โรคแพนิค หรือ Panic Disorder คืออะไร

โรคที่เกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เหมือนไฟฟ้าลัดวงจร ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายๆ ส่วน จึงเกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจไม่ทัน ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และเป็นอาการที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยที่ไม่มีสาเหตุหรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ นั่นทำให้บางคนที่มีอาการมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และผู้ป่วยโรคแพนิคมักจะรู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิคก็ต่อเมื่อมีอาการดังกล่าวไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ก แล้วพบว่าหัวใจแข็งแรงเป็นปกติ แพทย์จะสงสัย และอาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพนิค

อาการของโรคแพนิค

ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก

เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ

หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม

วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม

รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย

ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้

เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น และสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิค สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน

ถึงจะไม่อันตราย...แต่ก็ต้องรักษา

โรคแพนิครักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ การตรวจเลือดหาสาเหตุที่เกิดทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือรักษาด้วยการทำจิตบำบัด ซึ่งอาจหาต้นเหตุของความกลัวได้ แต่ผู้ป่วยก็สามารถลดความวิตกกังวลของตนเองได้เช่นกัน เช่น การฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ เมื่อเกิดอาการ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบอย่างคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม

การรักษาที่ได้ผลดีคือการรักษาแบบองค์รวม นอกจากรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย โดยให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัด ปรับแนวคิด ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ ให้พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตก ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวันและดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม

เริ่มต้นดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ด้วยการงดพฤติกรรมเหล่านี้

การใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ

กินนอนไม่เพียงพอและไม่เป็นเวลา

ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป

บทความโดย : ศูนย์ Let's talk โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน

15 October 2564

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 5876

 

Preset Colors