02 149 5555 ถึง 60

 

ส่งต่อวิธีคิดแบบไหนให้เด็ก

ส่งต่อวิธีคิดแบบไหนให้เด็ก!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เมื่อราวๆ 5-6 ปีที่แล้ว ได้มีโอกาสไปเยือนพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ (NAGASAKI ATOMIC BOMB MUSEUM) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองของประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เมืองนางาซากิถูกระเบิดปรมาณูถล่มเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ทำให้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวรายละเอียดเหตุการณ์ โดยรวบรวมและถ่ายทอดในรูปแบบของภาพถ่าย โมเดลจำลอง และเศษซากของวัตถุจริงที่ถูกระเบิดและยังคงเหลือให้เห็น รวมไปถึงข้อมูลการระเบิดและเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกว่า 150,000 คนที่ต้องเสียชีวิตลงจนญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงคราม

ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนรุ่นหลังให้คำนึงถึงความรุนแรงของสงครามว่าได้สร้างความเสียหาย และทำลายชีวิตผู้คนไปมากมายขนาดไหน

และสถานที่ที่ไม่ไกลกันอีกแห่งหนึ่งคือสวนสันติภาพนางาซากิ (NAGASAKI PEACE PARK ) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิตจากการถูกระเบิดปรมาณูถล่ม บริเวณด้านหน้าสวนมีน้ำพุแห่งสันติภาพ (Fountain of Peace) เป็นสัญลักษณ์ถึงชาวเมืองนางาซากิที่ถูกความร้อนและสารเคมีจากระเบิดเผาไหม้ มีอาการกระหายน้ำจนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยน้ำพุถูกออกแบบเป็นรูปปีกนกพิราบ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

แต่ที่ดิฉันประทับใจสุดก็อันเนื่องมาจากได้พบหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล่มหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้ทึ่งและหัวใจพองโต

หนังสือนิทานเล่มนั้นชื่อว่า “On That Summer Day” เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่มีภาพสวยงามมาก และใช้ 2 ภาษา คือ ญี่ปุ่นกับอังกฤษ

ที่สุดยอดมากคือ เนื้อหาที่มีการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู ในรูปแบบที่ไม่โหดร้ายได้อย่างน่าชื่นชม ไม่ใส่ความเกลียดชัง ไม่มีความรุนแรงให้เห็นแม้แต่ภาพหรือตัวอักษรแม้แต่น้อยt

เขาให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเนื้อหาให้กับเด็กของเขาอย่างประณีตและน่าทึ่ง ภาพสวยงามมาก เนื้อหาลึกซึ้งกินใจ และแฝงแง่คิดมากมาย ให้ความสำคัญและปลูกฝังคนในชาติจากการนำเสนอเนื้อหาที่เน้นจากจิตใจด้านใน

สะท้อนถึงวิธีคิดของคนในชาติที่ตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นต่อไป เขาผ่านประสบการณ์ความโหดร้ายและความรุนแรงด้วยฝีมือมนุษย์ด้วยกัน แต่เขาไม่ส่งต่อความโหดร้ายและความรุนแรงต่อไปให้เด็กและเยาวชน

หรือแม้แต่การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปรมาณูนางาซากิเองก็ไม่มีภาพสยดสยอง หรือความโหดร้ายแบบโจ่งแจ้ง แต่จะเลือกนำเสนอภาพที่สะเทือนใจ หรือความสูญเสียของแม่ลูก ซึ่งมันบีบคั้นหัวใจผู้คนมาก แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามที่ทำให้ผู้คนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

พูดง่าย ๆ คือแม้เขาจะส่งต่อความทรงจำและประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดให้กับคนรุ่นต่อไป แต่เขาชาญฉลาดและมีศิลปะที่จะไม่ส่งต่อวิธีคิดแบบรุนแรงให้กับคนรุ่นต่อไป โดยสารที่คนรุ่นต่อไปจะได้รับเป็นรากฐานคือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในอดีต แต่จะด้วยวิธีไหน อย่างไร คงเป็นเรื่องที่คนรุ่นต่อไปจะแสวงหาคำตอบได้เองในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นไปตามวัย

และหนึ่งในวิธีที่เขาเลือกคือนำเสนอผ่านหนังสือนิทานที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และความโหดร้ายของสงครามได้โดยไม่ใส่ความโหดร้าย รุนแรง และเกลียดชัง

หันมาดูบ้านเราบ้าง…เรามักจะได้ยินได้ฟังเสมอว่านิทานสำหรับเด็กมีความสำคัญมาก

รู้ไหมว่า ทุกครั้งที่ผู้ใหญ่อ่านหรือเล่าหนังสือนิทานให้เด็กฟัง สมองส่วนการเรียนรู้ของเด็กได้เริ่มทำงานแล้ว

เริ่มตั้งแต่น้ำเสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น จะช่วยให้เด็กสนใจฟัง ขณะเดียวกันสมองก็จะสร้างภาพตามเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่า จึงเป็นการส่งเสริมจินตนาการ ส่งผลให้เซลล์สมองของเด็กทำงานสมบูรณ์ขึ้น ที่สำคัญสมองของเด็กไม่ได้จดจ่อเฉพาะการฟังและสิ่งที่เห็น แต่มองรูปร่าง ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ความรู้สึกร่วมไปด้วย การที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นการสร้างพื้นฐานภาษาทางกายและใจที่ดีให้กับลูก

ช่วงเวลาที่เด็กจดจ่อตั้งใจฟังนิทาน เด็กจะผ่อนคลายและเกิดสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความฉลาดทางปัญญาให้กับเด็ก และการฟังนิทานจะทำให้สมองของเด็กสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทให้เพิ่มและทำงานมากขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้นจะช่วยให้เข้าใจ คิดสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และเข้าใจได้รวดเร็ว

ประโยชน์ของหนังสือนิทานมีมากมายยากจะบรรยายหมด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับศิลปะในการถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่เด็กด้วย

ที่ผ่านมาคนทำหนังสือสำหรับเด็ก และนักเขียนนิทานคุณภาพสำหรับเด็กในบ้านเราก็มีไม่มากนัก เพราะกว่าจะผลิตหนังสือแต่ละเล่มต้องผ่านกระบวนการคิด จินตนาการ แต่งเนื้อหา วาดรูปภาพประกอบ ต้องรังสรรค์คำแต่ละคำเป็นเนื้อเรื่อง การสอดแทรกองค์ประกอบศิลป์เพื่อให้เหมาะสำหรับเด็กในแต่ละวัย ต้องใช้ความประณีต ซึ่งยังไม่นับรวมต้นทุนการผลิตที่สูงอีกตางหาก แต่กระนั้นก็รู้ว่าหนังสือนิทานสามารถปลูกฝัง ส่งเสริม และพัฒนาสมองของเด็กได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเด็กปฐมวัย

ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการถกประเด็นเรื่องนิทานชุด "วาดหวัง" ที่มีเนื้อหาหลายประการทำให้เกิดการถกเถียงว่าเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นรูปแบบในการส่งต่อความคิดไปสู่คนรุ่นต่อไป จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการต้องออกมาห้ามปรามเนื้อหาบางเล่มที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม ซึ่งก็เหมือนกันแทบทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในท่ามกลางสภาพความขัดแย้ง

เพียงแต่ครั้งนี้เป็นสื่อสำหรับเด็ก เป็นเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก และการส่งต่อวิธีคิดให้กับเด็ก!

ประเด็นจึงต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจและเจตนาที่แท้จริงของผู้ผลิตนิทานสำหรับเด็กว่าเหมาะสำหรับเด็กหรือไม่ วัยไหน เหมาะกับพัฒนาการตามวัยหรือไม่ และเป็นการส่งต่อวิธีคิดของผู้ผลิตนิทานซึ่งเป็นคนรุ่นปัจจุบันให้กับคนรุ่นต่อไปกระนั้นหรือ

ที่สำคัญคือมีเป้าหมายเพื่ออะไร เพื่อตัวเองหรือเพื่อตัวเด็ก !

เพื่อรับใช้สถานการณ์ปัจจุบัน หรือเพื่อรับใช้อนาคต

เพราะผลลัพธ์ของการถูกถ่ายทอดและเรียนรู้ของเด็กผู้รับสารจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

29 October 2564

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 372

 

Preset Colors