รู้จักภาวะหมดไฟและหมดใจในการทำงาน ความสำคัญและข้อแตกต่างที่น่ารู้
รู้จักภาวะหมดไฟและหมดใจในการทำงาน ความสำคัญและข้อแตกต่างที่น่ารู้
คนที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนไม่น้อยต้องเคยประสบกับอาการหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) กันมาบ้าง นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) ด้วย มาทำความรู้จักความแตกต่างของทั้ง 2 อาการว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร พร้อมวิธีดูแลและป้องกันตนเอง
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) คืออะไร
ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่วัยเริ่มทำงานหรือคนที่ผ่านสมรภูมิการทำงานมาหลายปี หลายคนต้องเคยเจออาการนี้กันมาบ้าง ด้วยสาเหตุจากการทำงานหนักเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกเหนื่อยกับงานที่ทำ ไม่อยากตื่นมาทำงาน อยากเร่งให้ถึงเวลาเลิกงานเร็วๆ แม้ว่าจะพักผ่อนเต็มที่แล้วก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น ทั้งหมดนี้คืออาการของคนที่อยู่ในภาวะหมดไฟ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติ
ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ
- ปริมาณงานที่มากเกินไปและต้องทำในเวลาที่จำกัด
- ฝืนใจทำงานที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ได้อยากทำ หรือไม่มีความรักในงานนั้นๆ
- ทำงานด้วยความเบื่อหน่าย อาจด้วยตัวงานเองหรือมาจากเพื่อนร่วมงาน
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และไม่สามารถเรียงลำดับความสำคัญของงานได้
- ไม่ได้รับการตอบแทนหรือรางวัลที่คุ้มค่าต่อการทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ
- ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่าและจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
ผลกระทบจากภาวะหมดไฟมีอะไรบ้าง
1. ผลด้านจิตใจ
- สูญเสียแรงจูงใจ รู้สึกหมดหวัง
- ส่งผลให้มีอาการภาวะซึมเศร้าและนอนไม่หลับ
2. ผลด้านร่างกาย
- มีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
- ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ
3. ผลต่อการทำงาน
- อาจขาดงานบ่อย
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- อยากลาออกจากงาน
วิธีดูแลตนเองเมื่อรู้สึกหมดไฟ
1. พยายามแบ่งย่อยงาน หากงานที่ต้องทำมีความยากและลำบากที่จะเริ่มต้น ให้ลองแบ่งย่อยเป็นส่วนๆ ที่ง่ายกว่า และให้เครดิตตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จ
2. ฝึกใจให้คิดบวก ใช้เวลาว่างเพื่อคิดเรื่องดีๆ ในชีวิต ลองพิจารณาว่ามีสิ่งใดที่ผ่านไปได้ด้วยดีบ้าง
3. เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง ควรเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถทำงานได้เต็มที่แล้ว พยายามคิดในแง่บวกมากขึ้น
4. กระฉับกระเฉงให้มากขึ้น ความกระตือรือร้นสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานลบในสมองได้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ความเครียดหายไปทันที แต่จะทำให้เครียดน้อยลงได้
5. วางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดการสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น จดรายการสิ่งที่ต้องทำ การเดินทางที่ต้องไป และสิ่งที่ต้องใช้งาน
6. คุยกับคนที่ไว้ใจ หาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไว้ใจได้เพื่อปรึกษาและระบายความเครียด หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยเหลือ
ภาวะหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) คืออะไร
ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) แต่ยังมีอีกหนึ่งอาการที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือภาวะหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) โดยมีสาเหตุจากความเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจกับคนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าการหมดไฟ เพราะส่งผลกับสภาพจิตใจของพนักงานและองค์กรด้วย แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองยังยืนยันว่าเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ และยังส่งผลให้มีพนักงานลาออกจากงานมากถึง 40% ขณะที่การลาออกเพราะหมดไฟมีเพียง 5% เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้คนหมดใจ
1. กฎระเบียบในองค์กรที่จุกจิก และไม่เป็นธรรม แม้การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องการกฎเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่กฎที่จุกจิกและไม่มีความยืดหยุ่นจะทำให้พนักงานกดดัน รู้สึกโดนควบคุมมากเกินไป และเกิดความอึดอัดใจได้ รวมถึงความไม่เป็นธรรม อย่างการยืดหยุ่นกฎระเบียบให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งความไม่ยุติธรรมนี้ เป็นตัวสร้างอคติและความบาดหมางชั้นดีในองค์กร
2. ทำได้มากกว่า แต่ผลตอบแทนเสมอกัน สาเหตุหลักที่ทำให้คนเก่งๆ ทยอยออกจากองค์กร คือ การไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า แถมยังได้พอๆ กับคนที่ทำงานแบบขอไปที สิ่งนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า แล้วจะทำดีไปทำไม? นอกจากจะได้ผลตอบแทนเท่าๆ กันแล้ว บางบริษัทยังไม่มีการลงโทษ ตักเตือน หรือจัดการกับคนเหล่านั้น บวกกับคนที่ตั้งใจทำงาน ก็ไม่เคยได้รับรางวัล ปันผล หรือคำชมใดๆ หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พนักงานที่ตั้งใจทำงานอาจเริ่มหมดใจ และเริ่มมองหาองค์กรใหม่ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงแรงมากกว่า
3. หัวหน้างานเอาแต่ใจ ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ หลายๆ องค์กรที่พนักงานลาออกบ่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากความเอาแต่ใจของหัวหน้า ไม่เปิดรับความเห็นต่าง ไม่ฟังเหตุผล ขาดความเห็นใจ ไม่ยอมรับผิด เอาแน่เอานอนไม่ได้ ลำเอียง และอีกมากมาย พนักงานหลายคนจึงไม่อยากไปรองรับอารมณ์ และพลังงานลบๆ อีกต่อไป
4. เป้าหมายในการทำงานไม่ชัดเจน บางองค์กรสั่งงานแล้วจบ กำหนดเพียงเดดไลน์ แต่ไม่ยอมบอกว่างานนี้ทำไปเพื่ออะไร หรืองานนี้จะส่งผลอย่างไรต่อองค์กร? เมื่อไม่เห็นเป้าหมายของงานที่ทำ พนักงานหลายคนจึงเริ่มหมดใจ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีประโยชน์ หรือมีคุณค่ากับองค์กรมากน้อยแค่ไหน? ทำแล้วได้อะไร? เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลาออกกันมากนั่นเอง
เช็กลิสต์อาการของคนหมดใจ
- ความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง
- ไม่อยากทำงานนอกเหนือเวลางาน เช่น ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเสาร์ อาทิตย์ จากที่เมื่อก่อนเคยทำได้
- มีอาการพักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยบ่อย ใส่ใจตัวเองน้อยลง
- ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
- ปลีกตัวจากสังคมเพื่อนร่วมงาน
- ขาดความสนใจในเรื่องทั่วไป ยกเว้นเรื่องงาน
- รู้สึกกดดันจากการทำงาน เหมือนองค์กรคอยเพ่งเล็ง จับผิด
ผลกระทบจากภาวะหมดใจ
ผลกระทบจากคนที่มีภาวะหมดใจในการทำงานแตกต่างจากภาวะหมดไฟ เพราะคนกลุ่มนี้ยังมีไฟในการทำงานอยู่ แต่ด้วยสาเหตุหลายๆ ปัจจัยข้างต้นจึงทำให้เลือกที่จะ “ลาออก” จากองค์กรนั้นๆ เพื่อไปหาสิ่งที่ตนเองต้องการแทน ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับพนักงานที่มีความสามารถสูง จึงมีโอกาสหางานใหม่ได้เร็ว ในกรณีนี้แม้ว่าองค์กรจะยื่นข้อเสนอด้วยการเพิ่มเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่สามารถฉุดรั้งคนที่มีภาวะหมดใจได้ เพราะพวกเขารู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่ตอบโจทย์ความต้องการนั่นเอง
วิธีป้องกันภาวะหมดใจในการทำงาน
การป้องกันไม่ให้คนรู้สึกหมดใจในการทำงานต้องอาศัยความร่วมมือหลายส่วน ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ไปจนถึงองค์กร ที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติ ปรับระบบการทำงาน และวัฒนธรรมภายในองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและน่าทำงานมากขึ้น ให้ความยุติธรรมเท่าเทียม ทั้งในพนักงานรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ และไม่สร้างวัฒนธรรมเส้นสายให้เกิดขึ้นในองค์กร
ขณะเดียวกัน ตัวพนักงานเองก็ต้องเปิดใจให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาภาวะหมดใจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งเวลาการทำงานและการพักผ่อน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไปจนถึงการฟื้นฟูความรู้สึกและความมั่นใจของตัวเองโดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ และกำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน แต่ถ้าหากรู้สึกหมดกำลังใจและกำลังกายที่จะแบกรับภาระต่างๆ ลองหาเวลาพักร้อนเพื่อไปพักผ่อนสมองและหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยปราศจากการทำงานสัก 2-3 วัน แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเริ่มมีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษาที่ถูกต้อง
21 January 2565
ที่มา ไทยรัฐ
Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan
Views, 918