02 149 5555 ถึง 60

 

ศึกษาพบวัคซีน 2 เข็ม กันติด “โอมิครอน” ไม่ได้ แต่สกัดตาย 85-93% เร่งฉีดเข็ม 3 ช่วยลดติดเชื้อได้

ศึกษาพบวัคซีน 2 เข็ม กันติด “โอมิครอน” ไม่ได้ แต่สกัดตาย 85-93% เร่งฉีดเข็ม 3 ช่วยลดติดเชื้อได้

สธ.ชี้ ดับจากโควิดยังเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เกินครึ่งไม่ได้รับวัคซีน พบยังฉีดเข็ม 3 ได้น้อย ต้องเร่งฉีดกระตุ้น หลังประเมินประสิทธิผลการใช้จริงพื้นที่เชียงใหม่ พบ 2 เข็ม กันติดโอมิครอนไม่ได้ แต่ยังกันเสียชีวิตได้ 85-93% เข็ม 3 กันติดได้ 45-68% ป้องกันตาย 98% ส่วนเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อพุ่ง 82% ยังไม่พบเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงในการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,464 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 514 ราย และเสียชีวิต 88 ราย เป็นที่ทราบกันดีว่า จำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจะมีระยะเวลาตามหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นที่คาดไว้และอยู่ในระดับที่รับมือได้ สำหรับผู้เสียชีวิต 88 ราย พบว่า มีปอดอักเสบ 74 ราย ไม่มีปอดอักเสบ 14 ราย โดยมีโรคประจำตัวอื่นๆ ประกอบ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 ถึง 94% ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อเสียชีวิตเมื่อมีการติดเชื้อโควิด นอกจากนี้ พบว่าไม่ได้รับวัคซีน 52% ทั้งที่ในประเทศไทยได้วัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 80% เข็มที่ 2 ก็ใกล้กัน ที่ยังไม่ได้ฉีดน่าจะประมาณ 20% แต่คนที่เสียชีวิตสูงถึง 52% ที่ไม่ได้รับวัคซีน ถือว่าน่าเสียดายที่ขาดโอกาสได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิผลป้องกันการเสียชีวิต ส่วนผู้เสียชีวิตที่รับวัคซีนเข็มสองเกิน 3 เดือน พบ 33% จึงอยากให้มาฉีดเข็มสาม

สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 19 มี.ค. 2565 จำนวน 2,464 ราย อายุเฉลี่ย 73 ปี อายุน้อยสุด 3 เดือน มากสุด 107 ปี มีหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย มีโรคประจำตัว 2,135 ราย มากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ตามด้วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไตเรื้อรัง มะเร็ง โรคอ้วน และปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงหอบหืด ส่วนความเสี่ยงการรับเชื้อ คือ สัมผัสผู้ติดเชื้อรายอื่น รวมถึงอาศัยในพื้นที่เสี่ยง อาจชี้ไม่ได้ชัดเจนว่าสัมผัสใคร ย้ำว่าโอมิครอนตอนนี้ติดเชื้อง่ายมาก การไล่เรียงสัมผัสผู้ติดเชื้ออาจไม่ชัด ถึงได้ประวัติว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ฉะนั้น จึงต้องใช้มาตรการประกอบอื่นๆ ที่ต้องมีติดตัวคือวัคซีน

“ภาพรวมผู้เสียชีวิตเกินครึ่ง 57% ไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีด 2 เข็ม และเสียชีวิตมี 31% ซึ่งการฉีดวงกว้างบางคนมีโรคประจำตัวมีเหตุอย่างอื่นอยู่ก็ปรากฏตรงนี้ได้ และวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100% ซึ่งใกล้เคียง แต่เวลาประเมินคนทั้งประเทศจำนวนมาก อาจเจอได้คนเสียชีวิตที่ฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่ภาพรวมวัคซีนป้องกันการเสียชีวิตได้มาก” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กรณีปอดอักเสบกำลังรักษาใน รพ. ระลอก ม.ค. 2565 ตั้งแต่วันที่ 14-20 มี.ค. พบว่า กทม.มีปอดอักเสบนอน รพ. 193 ราย นอกนั้นต่ำกว่า 100 ราย เช่น สมุทรปราการ 87 ราย นครราชสีมา 61 ราย และ นครศรีธรรมราช 57 ราย อัตราการครองเตียงภาพรวมของประเทศอยู่ที่ 25.80% ยังว่างอยู่อีกกว่า 75% จึงมีความพร้อมในการรองรับผู้ที่มีอาการหนักได้พอสมควร โดย กทม.มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 31.40% สมุทรปราการอัตราครองเตียง 44% เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าการประเมินประสิทธิผลวัคซีนจากการใช้จริงระยะที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ดำเนินการศึกษาในพื้นที่เชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ และคณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีนโควิด และคณะทำงานวิชาการส่วนกลาง โดยพบว่า ช่วง ต.ค. 2564 อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุยังไม่มาก คิดเป็นสัดส่วน 60% จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดย พ.ย. 2564 เป็น 71.4% แต่เมื่อถึง ก.พ. 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 89.5%

สำหรับผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 จ.เชียงใหม่ ช่วง ม.ค.- ก.พ. 2565 กรณีการป้องกันการติดเชื้อ หากฉีด 2 เข็ม ไม่สามารถป้องกันโอมิครอนได้ ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อช่วง ม.ค. 68% และ ก.พ. 45% หากฉีด 4 เข็ม ช่วง ก.พ.ป้องกันสูงขึ้นเป็น 82% แต่จุดสำคัญคือ ป้องกันการเสียชีวิต โดยฉีด 2 เข็ม ม.ค. ป้องกันได้ 93% ก.พ. 85% ฉีด 3 เข็ม ม.ค.ป้องกันได้ 98% ก.พ.ป้องกันได้ 98% ส่วนฉีด 4 เข็ม ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม วัคซีนที่ใช้จึงมีประโยชน์ป้องกันการเสียชีวิตเต็มที่มากๆ

ส่วนตัวเลขผลเบื้องต้นการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงระดับประเทศของ ม.ค. 2565 พบว่า การป้องกันการติดเชื้อหากฉีด 2 เข็ม ป้องกันได้ 4.1% ซึ่งต่ำมากเหมือนไม่ป้องกัน เข็ม 3 ป้องกันได้ 56% และเข็ม 4 ป้องกันได้ 84.7% ป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต เมื่อฉีด 2 เข็ม ป้องกัน 54.8% เข็ม 3 ป้องกัน 88.1% แต่กรณีป้องกันการเสียชีวิตพบว่า 2 เข็ม ป้องกันได้สูงถึง 79.2% หากเป็น 3 เข็ม จะป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 87%

“การฉีดวัคซีน 2 เข็มมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยและเสียชีวิต แล้วจำเป็นต้องเข็ม 3 หรือไม่ ย้ำว่าจำเป็น เพราะเข็ม 3 ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% และลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้อีก ถ้าปิดทางเข้าไม่ให้ติดเชื้อตั้งแต่ต้น ก็จะไม่ไปถึงการเสียชีวิตได้เลย” นพ.เฉวตสรร กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยลังเล ไม่แน่ใจในการแนะนำให้คนไปฉีดวัคซีน หากมีการสื่อสารข้อมูลถูกต้องจะช่วยชีวิตคนได้ แต่หากข้อมูลไม่ถูกต้อง อาจทำให้ขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีน โดยเรื่องความเชื่อที่ว่า ผู้สูงอายุอยู่บ้าน ไม่ไปไหนคงไม่เสี่ยง ความจริง คือ ปัจจุบันติดต่อกันง่ายมาก การอยู่บ้านมีหลายคนเข้าออกตลอด คนที่อยู่บ้านย่อมติดเชื้อได้ อย่างการระบาดระลอกปัจจุบันประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 29% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนข้อสงสัยว่า ญาติอายุมากแล้วฉีดวัคซีนจะอันตรายหรือไม่ ความจริง คือ ไทยฉีดไปแล้วมากกว่า 120 ล้านโดส ยืนยันได้ว่าปลอดภัย ซึ่งหากฉีดแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ก็มีระบบในการดูแล

22 March 2565

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 523

 

Preset Colors