02 149 5555 ถึง 60

 

รองนายกรัฐมนตรีสมศักดิ์ เคาะแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อเสนอครม. ทุกจังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อม ลดความรุนแรงในสังคม

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2567) การประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่1/2567 เมื่อ 5 ก.พ. 2567 โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร พบว่าการดำเนินงานพัฒนาไปมาก อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไข ได้แก่ การขาดองค์ประกอบสำคัญในคณะอนุกรรมการฯ อาทิ ตัวแทนกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนสภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งขาดอนุกรรมการฯ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติจึงเห็นชอบให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลและคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติให้ความสำคัญในประเด็นการดูแลสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1. ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นและผู้ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ตั้งแต่ในเรื่อง การส่งเสริมเจตคติที่ดี การเคารพสิทธิ ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญการดูแลขั้นพื้นฐานทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการป้องกัน ลดสถานที่เสี่ยง บังคับใช้กฎหมาย เน้นการช่วยเหลือมากกว่าลงโทษ และมีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้มีความประพฤติรุนแรง 2. การจัดการผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) / ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน 3. ปัญหาการข่มขืน/กระทำชำเรา การค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน 4. ปัญหาผู้ติดยาเสพติดและจิตเวช นอกจากจะป้องกันปราบปรามตามมาตรการกฎหมาย บูรณาการในการบำบัด รักษา ฟื้นฟู ติดตามหลังจากกลับสู่ชุมชน ลดการเสพซ้ำ เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาตินั้นมีความสำคัญ ในการเป็นทิศทางสำหรับทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งนี้ประเด็นสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน โดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติได้ดำเนินการจัดทำแผน ซึ่งจากมติการประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบและบริการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนอย่างบูรณาการ พ.ศ. 2566-2570” ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข UNICEF และภาคีเครือข่าย ด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ โดยให้เริ่มเผยแพร่แผนดังกล่าวจนนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันได้

นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ การประชุมวันนี้ยังมีมติเห็นชอบสนับสนุนเพิ่มความเข็มแข็งของการจัดระบบดูแลเฝ้าระวังป้องกันผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with high risk to Violence: SMI-V) หรือเรียกว่าระบบ V-Care ที่ได้ดำเนินการไป หลายจังหวัดแล้ว พร้อมสร้างความเข็มแข็งของกลไกคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยสนับสนุนให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งเป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ เสนอข้อมูล สถานการณ์ และแผนสุขภาพจิต ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธาน และร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ที่เป็นประเด็นมุ่งเน้นภายในจังหวัด ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เป็นคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งจะ กำกับดูแล “ตัวชี้วัดระดับจังหวัด” ได้แก่ “อุบัติการณ์การพยายามฆ่าตัวตายลดลง” และ “อัตราการเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและ ยาเสพติดที่เสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) เพิ่มขึ้น” ตลอดจนการขยายผลการดูแลโดย “ชุมชนล้อมรักษ์” (Community-Based Treatment; CBTx) ตามมติของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติวันนี้

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัญหาทวีความรุนแรงในสังคม ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชและ ยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรงปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงาน อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมาย จึงควรมีการทบทวนพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฯ และอนุบัญญัติฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านงบประมาณจะมีการเพิ่มหมวดการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตและจิตเวช ด้านบุคลากรเสนอให้เพิ่มเติมพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต และทบทวนบทบัญญัติ ที่สามารถออกอนุบัญญัติฯ ในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพจิต เช่น การที่พ่อแม่ต้องศึกษาการเลี้ยงดูลูก การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต เช่น การดูแลเฝ้าระวังป้องกันในโรงเรียน และการควบคุมกำกับสื่อที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต เช่น สื่อเผยแพร่ความรุนแรงต่างๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิตนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป

จากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติในครั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตและจิตเวชโดยรีบด่วนต่อไป

5 February 2567

ที่มา กลุ่มสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สำนักวิชาการสุขภาพจิต

Posted By ITDMH

Views, 186

 

Preset Colors