02 149 5555 ถึง 60

 

สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pets Therapy)

Pets Therapy ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภท

สัตว์เลี้ยงบำบัด

หากใครเป็นคนรักสัตว์เลี้ยง คงจะเข้าใจความหมายดีว่า แค่ได้อยู่ใกล้ก็มีความสุขแล้ว ฉะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่บริการสัตว์เลี้ยงบำบัด สำหรับบรรดาผู้สูงอายุที่เผชิญกับภาวะโดดเดี่ยวและเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมะเร็ง, สมองเสื่อม ผู้ที่มีความเครียดหลังเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือ ที่เรียกว่า PTSD ผู้มีภาวะเครียด วิตกกังวล ฯลฯ เหล่านี้จะได้ผลดีมาก

มีรายงานการศึกษาวิจัยมาเป็นเวลานานแล้วว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หรือปลา นั้น สามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนหลายคนกำลังมองหาวิธีที่จะรักษาสภาพจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น ที่ผ่านมามักมีข้อเสนอแนะข้อหนึ่งเสมอที่พบบ่อยคือ การแนะนำให้ผู้สูงอายุเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมาใช้เพื่อบรรเทาความเหงาและป้องกันโรคซึมเศร้า แม้คำแนะนำนี้จะแพร่หลายในวัฒนธรรมสมัยนิยม แต่ผลการวิจัยยังไม่ชัดเจนว่า การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุหรือไม่ รายงานการศึกษานี้ เป็นการศึกษายืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงช่วยป้องกันหรือรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

ภาวะซึมเศร้า จัดเป็นปัญหาภาระโรค (Burden of Disease) ที่ทางองค์การอนามัยโลกและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการศึกษาและทำนายไว้ว่า ภายในปี 2020 นี้ปัญหาโรคซึมแศร้าจะเป็นภาระโรคอันดับสองรองมาจากปัญหาหัวในและหลอดเลือด โดยการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จะสร้างภาระต่อการพัฒนาประเทศอย่างใหญ่หลวง เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่ว่าวัยใดเมื่อป่วยแล้ว จะส่งผลสืบเนื่องทางการแพทย์ สังคม และการเงิน ที่รุนแรง สำหรับผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ รวมถึงผู้ดูแล มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าเป็นโรคร่วมทางการแพทย์ที่ทำให้สามารถลดอายุขัยและภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอื่นๆ ที่มาพร้อมกับภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการรักษาโดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางการเงินทางอ้อมให้กับสังคม ส่วนที่ ความทุกข์ส่วนบุคคลจะส่งผลทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติสุข เป็นต้นเหตุนำไปสู่โรคเรื้อรังทางกายเช่น เบาหวาน ความดัน ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูญเสีย และส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศไปอย่างมหาศาล

เมื่อเอ่ยถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว สำหรับเจ้าของผู้เลี้ยงแล้ว สัตว์เลี้ยงกลุ่มนี้จัดได้ว่าเป็นผู้ให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขแก่เจ้าของ ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อนวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว เป็น "เพื่อนสี่ขา" ที่สร้างความรัก ความอบอุ่น และความบันเทิงใจ เสียงหัวเราะได้ตลอดเวลาที่พบหน้ากัน

มีรายงานการศึกษาของ E. Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research ปี 2014 ในฐานข้อมูล NCBI ของสถานบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals โดยการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท ด้วยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด เป็นที่ทราบกันดีว่า สัตว์เลี้ยง เพื่อนสีขา นั้นช่วยเพื่อภาวะสุขภาพจิตดีอาทิ ความเหงา ความโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ฯลฯ ต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีรายงานการศึกษาใดยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าช่วยบำบัดโรคได้มากน้อยเพียงใด การศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาผลต่อพยาธิสภาพของเหล่าสัตว์เลี้ยงที่มีต่อความเจ็บป่วยของบุคคล อย่างไรก็ตามปัญหาความเสี่ยงทางร่างกายของโรคจากสัตว์ก็ไม่ได้ถูกมองข้าม เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะมีคำเตือนให้การเลี้ยงและการบำบัดอยู่ภายใต้ขอบเขตเงื่อนไข ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีการศึกษาที่สมบูรณ์แบบมากนัก

ผลการศึกษา pets therapy ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 144 ราย ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ในผู้สูงอายุโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเพื่อควบคุม ประเมินผลโดยใช้แบบประเมินทางจิตใจ พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าคะแนนกลุ่มอาหารทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน มีผู้มีป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 28 รายที่ได้รับการประเมินจากแบบประเมินภาวะซึมเศร้า มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่การบำบัดในผู้ป่วยโรคจิตเภท กว่า 20 ราย ที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว 3 ชม.ต่อสัปดาห์ ด้วยการอาบน้ำ ให้อาหาร ตัดขน ฯลฯ ประเมินผลจาก social functioning ของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ศึกษาในคนแล้ว เพื่อนสี่ขา มีการศึกษาหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกามีบริการสัตว์เลี้ยงบำบัดมากกว่า 50,000 ตัว และบริการในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศตั้ง แต่ประเทศในขั้วโลกเหนือจนถึงขั้วโลกใต้อย่าง นอร์เวย์ไปจนถึงบราซิล บริการสัตว์เลี้ยงบำบัด อาทิเช่น สุนัข ที่ทำหน้าที่เยียวยาจะเข้ารับการฝึกฝนและมีใบรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะส่งพวกมันไปยังโรงพยาบาลหรือตามศูนย์ต่างๆ

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการวิจัยชี้ว่า สุนัขสามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง แต่ยังไม่เคยมีใครสนใจความรู้สึกของสุนัขเองบ้างว่าพวกมันคิดอย่างไร? ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงต้องการหาคำตอบนี้ และผลที่ได้นำมาซึ่งความอุ่นใจในการบริการกันต่อไป

ผลการวิจัยล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่าสุนัขที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดเหล่านี้ ไม่ได้รู้สึกเครียดจากการทำงาน ตรงกันข้ามในบางกรณี พวกมันรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำ การวิจัยครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งร้อยราย และสุนัขช่วยเยียวยาอีก 26 ตัว รายงานจาก Amy McCullough หัวหน้าวิจัยและผู้อำนวยการด้านการวิจัยและบำบัดแห่งชาติจาก American Humane ในวอชิงตัน ดี. ซี.

การศึกษาการทำงานของสุนัข โดยการวัดระดับความเครียด

ทีมนักวิจัยวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยวัดได้ในน้ำลายของสุนัข โดยทีมผู้วิจัยเก็บตัวอย่างจากทั้งสุนัขในบ้านและในโรงพยาบาล จากนั้นทีมนักวิจัยบันทึกวิดีโอของสุนัขทั้ง 26 ตัวระหว่างปฏิบัติงาน และวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกมัน โดยพวกเขาแบ่งท่าทางการแสดงออกเป็น 3 กลุ่มคือ หนึ่ง ท่าทางที่เป็นมิตรมาก เช่น การเข้าใกล้คนหรือเล่นด้วย, สอง ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดเล็กน้อย เช่นอาการสั่น หรือเลียปากไปมา และสาม ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดสูง จากการส่งเสียงร้องคราง

ผลการวิเคราะห์ทีมนักวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างของระดับคอร์ติซอลระหว่างสุนัขที่บ้านและที่โรงพยาบาล รวมทั้งการทำงานเยียวยาผู้ป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดท่าทางที่บ่งชี้ว่ามีความเครียดในสุนัขแต่อย่างใด

ศึกษาการทำงานของสุนัขเพื่อวัดความสนุกจากการทำงาน

ในขณะที่รายงานการศึกษาหนึ่งของทีมวิจัยจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้เผยแพร่ผลการวิจัย ที่สอดคล้องกับงานวิจัยสุนัขบำบัดก่อนหน้าในปี 2017 โดยผู้วิจัย Lisa Maria Glenk สัตวแพทย์ที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การศึกษาก่อนหน้าให้ข้อมูลที่จำกัด และไม่มีข้อมูลของกิจกรรม จึงยากที่จะระบุระดับความเครียดของสุนัข” คำถามต่อมาคือสุนัขเองชอบงานที่ทำจริงหรือไม่ และในการศึกษาแผนกมะเร็งในเด็กให้ข้อมูลบางประการ ตัวอย่างเช่น สุนัขมีท่าทางมีความสุขระหว่างทำกิจกรรมนั้นๆ มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น เมื่อเด็กๆ พูดคุยด้วยหรือเล่นของเล่นกับมัน เห็นได้ชัดว่าสุนัขบำบัดมีท่าทางการตอบสนองที่เป็นมิตรมากกว่ากิจกรรมอย่างการแปรงขนสุนัข หรือวาดรูป ผลลัพธ์ที่ได้ สรุปว่า “บางกิจกรรมก็สนุกมากกว่าสำหรับสุนัข” ขณะที่หนึ่งในทีมวิจัยซึ่งเป็นสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา McCullough กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลที่เราค้นพบนี้ถือเป็นข้อมูลที่ดี เพราะช่วยให้เรารู้ได้ว่าควรเล่นอะไรกับสุนัข” เพื่อลดความเครียดของสุนัขและช่วยให้สุนัขทำงานได้อย่างสนุก และเช่นเดียวกับงานอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคัดเลือกผู้ทำงาน (สุนัขที่จะเลือกมาทำงาน) ให้เหมาะสม McCullough กล่าวเสริม มีหลายคนที่กล่าวว่าสุนัขของพวกเขาเป็นมิตรแม้กระทั่งกับเพื่อนบ้าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสุนัขเหล่านั้นจะสามารถทำงานบำบัดได้ “สุนัขกำลังเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า เราต้องติดสินบนเพื่อให้มันตอบสนองไหม” เธอกล่าว “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับผู้เข้ารับการบำบัดนั้นจะไปได้ด้วยดี สำคัญก็คือสุนัขต้องรักงานที่มันทำด้วย”

กล่าวโดยสรุป

ในการทำเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อทำการบำบัดหรือ Pet therapy ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้จึงเป็นข้อมูลสองด้าน ที่ได้นำผลการศึกษาทั้งในแง่ผลของการเลี้ยงที่ทำให้บุคคลลดความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าหรือแม้แต่ปัญหากลุ่มอาการต่างๆในโรคจิตเภท ซึ่งมีผลยืนยันทางพยาธิสภาพได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน เราก็นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่า การนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่ใช้ในการบำบัดในต่างประเทศ ที่มีระบบการบำบัดในสถานพยาบาลนั้น พวกเขาตระหนักดีถึงการเลือกผู้บำบัด (สัตว์เลี้ยง) ที่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่การทรมานจิตใจเพื่อนสี่ขา ผู้ที่ไม่สามารถสื่อสารทางวาจาได้ ก็เป็นการนำเสนอข้อมูลแบบครอบคลุมค่ะ คงไม่มีผู้รักสัตว์ท่านใดทีจะมาโต้แย้งว่า เป็นการทรมานสัตว์ของมนุษย์หรือไม่ นั่นคือ ทั้งผู้ให้และผู้รับไม่ทุกข์ จึงจะเป็นการบำบัดที่สมบูรณ์แบบค่ะ

แหล่งข้อมูล

https://www.nationalgeographic.com.au/animals/therapy

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4248608/

13 May 2562

By nitayaporn.m

Views, 44083

 

Preset Colors