02 149 5555 ถึง 60

 

Cloud meeting-Telemedicine กับบุคลากรทางการแพทย์ในยุคโควิด-19

Cloud meeting-Telemedicine กับบุคลากรทางการแพทย์ในยุคโควิด-19

“เทคโนโลยีจะเกิด ประโยชน์สูงสุด เมื่ออยู่ในมือของผู้ที่นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ถูกสถานการณ์ ถูกเวลา”

Cloud meeting – Telemedicine กับบุคลากรทางการแพทย์ในยุคโควิด-19

ในช่วง 4-5 เดือนมานี้เป็นที่ทราบดีว่า social distancing, self-isolation, work from home อันเป็นผลพวงมาจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้ 2 เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันถือว่าไม่ใหม่ไม่เก่าและกำลังถูกหยิบมาพูดถึงมากขึ้นในชั่วโมงนี้...ใช่แล้วครับ! มันคือ Cloud meeting และ Telemedicine โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็รู้จักเทคโนโลยีที่ว่าแบบแค่พอเคยได้ยินพอรู้จักบ้าง...แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษนัก ซึ่งเรื่องที่จะหยิบยกมาคุยในวันนี้เป็น 2 เครื่องมือที่ว่ามาข้างต้น ซึ่งช่วยให้พวกเราสามารถสื่อสารกันระหว่างทีมแพทย์ด้วยกันเองแบบทันท่วงที (real-time) เช่น การประชุมเชิงวิชาการ การจัด training webminar หรือการจัดการสอนออนไลน์ ต่างๆ หรือเป็นการสื่อสารกันระหว่างแพทย์-ผู้ป่วย เช่น การติดตามผลการรักษาแบบ interactive communication

Cloud meeting

การทำงานที่บ้าน งดการนัดพบปะสังสรรค์ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มที่มีผู้คนมากมาย การใช้การประชุมออนไลน์เพื่อตอบสนองนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม จะสามารถรดความเสี่ยงในการระบาดของ COVID-19 ได้ หลายองค์ต้องหาวิธีและเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยเราจะสามารถจะร่วมประชุมออนไลน์แบบเห็นหน้าตา เชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานในทุกสถานที่ทุกเวลาตามต้องการ ซึ่งมีโปรแกรมให้เลือกมากมาย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ฟังก์ชันการใช้งานหรือราคา ให้เราเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น ZOOM cloud meeting, Cisco WebEx, Google hangouts meet, Skype, Microsoft Teams

1. ZOOM cloud meeting

รองรับผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 1,000 คน (ฟรี-จ่ายเงิน) สำหรับการใช้งานแบบฟรี มีข้อจำกัดคือ สร้างการประชุมแบบ 1:1 เท่านั้น และสำหรับการประชุมแบบกลุ่มจำกัดเวลาที่ 40 นาที ZOOM มีฟังก์ชันการแชร์ภาพหน้าจอแบบ HD มีระบบการส่งข้อความหากันระหว่างเพื่อนร่วมงาน แชร์ภาพหน้าจอ หน้าเว็บ รูปภาพ ไฟล์ใน Google Drive, Dropbox หรือ Mailbox ได้ สามารถเข้าร่วมประชุมได้ทั้งแบบที่เรามีการพูดคุยโต้ตอบ หรือเข้าร่วมในฐานะผู้รับชมก็ได้

ZOOM cloud meeting เป็น solution สำหรับบริการประชุมออนไลน์หรือจัดคอร์สสอนออนไลน์ได้ สามารถเข้าร่วมประชุมได้จากทุกที่และทุกอุปกรณ์สามารถใช้งานได้ง่าย โดยต่อให้ไม่เคยใช้งานก็สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว โปรแกรม ZOOM มาพร้อมคุณสมบัติเด่นๆ เช่น

💻 รองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ 1,000 คนพร้อมกัน คุณภาพของวิโอระดับ HD มองเห็นได้ 49 คน บน 1 หน้าจอ

💻 สามารถมีส่วนร่วมในการประชุมไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกหรือติดตามดูว่ามีคนไม่ตั้งใจประชุมหรือไม่

💻 แชร์หน้าจอพร้อมกันหลายคน มีส่วนร่วมในการเขียนบนหน้าจอได้ รองรับการแชทแบบกลุ่ม

💻 มีความปลอดภัยสูงเพราะก่อนเข้าประชุมจะต้องใส่รหัส

💻 สามารถแปลงเสียงการประชุมเป็นข้อความได้ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และสามารถเก็บข้อมูลไว้ได้นานถึง 10 ปี

2. Cisco WebEx

รองรับผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 1,000 คน (ฟรี 30 วัน-จ่ายเงิน) สามารถประชุมทางวิดีโอและเสียง กำหนดเวลาประชุมได้ สามารถแชร์ได้ทั้งหน้าจอ เอกสาร แอปพลิเคชัน หรือ spreadsheet ให้ผู้เข้าร่วมประชุมด้วยฟังก์ชันเล่น แชร์วิดีโอ หรือภาพนิ่ง และเขียน whiteboard วาดไอเดียเพื่อให้คนที่ร่วมประชุมอยู่เห็นได้ ล่าสุดแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายสามารถรองรับผู้เข้าร่วมสูงสุดได้ถึง 100 คน และไม่จำกัดเวลา (เดิมจำกัดที่ 50 คน 40 นาที)

3. Google hangouts meet

รองรับผู้เข้าร่วมประชุมมากได้ 250 คน (ฟรี 14 วัน-จ่ายเงิน) โดยเชื่อมต่อผ่ายบัญชีของ Google สามารถแชทกับเพื่อน คุยแบบเห็นหน้าได้ทั้งแบบเดียว/กลุ่ม สามารถแชร์โลเคชันปัจจุบันได้ สามารถเพิ่มอีโมจิ และภาพเคลื่อนไหวแบบ GIF รับส่งข้อความ SMS/MMS มีแจ้งเตือน อีกทั้งยังรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมสูงสุดได้ถึง 50 คน แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อเปรียบเทียบของโปรแกรม

ZOOM cloud meeting VS Cisco WebEx

ท่ามกลางสมรภูมิรบของโปรแกรม cloud meeting บ่อยครั้งที่ WebEx ของ Cisco มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับ ZOOM แม้ในแง่ feature จะไม่แตกต่างกันมาก แต่ในแง่การใช้งาน การตอบรับจากผู้ใช้งานฝั่ง Zoom มักดูดีกว่าฝั่ง WebEx เช่น ZOOM ใช้งานได้ลื่นกว่า ความหน่วงเวลาประชุมต่ำและเสถียรกว่า WebEx ในเรื่องของ user experience-user interface ที่ Zoomเข้าใจได้ง่ายกว่า เริ่มใช้งานได้รวดเร็วกว่า

ในแง่ราคาทั้งสอง platform ดูไม่แตกต่างกันมากและต่างก็มี free package ทั้งคู่ WebEx มีภาษีดีกว่าตรงที่ไม่จำกัดระยะเวลาในการประชุมใน free package แต่ ZOOM จำกัดไว้ที่ 40 นาทีต่อการประชุม 1 ครั้ง ส่วน package สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลาง WebEx จะราคาถูกกว่าเล็กน้อย ส่วนระดับองค์กร (enterprise) package ของ ZOOM จะราคาถูกกว่าค่อนข้างมาก เลยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่องค์กรขนาดใหญ่จึงมักเลือก Zoom มากกว่า WebEx

อีกเหตุผลส่วนหนึ่งเพราะบริการของ Zoom และ WebEx เป็นบริการประชุม online ออนไลน์แบบ standalone ไม่ขายพ่วงกับบริการอื่นเป็นชุดแบบ Microsoft Teams /Skype หรือ Google hangouts แม้จะไม่มีตัวเลข market share ของระบบการประชุมทางไกลที่แน่ชัด แต่บริษัทวิจัยตลาด Gartner ก็จัดให้ 2 เจ้านี้อยู่ในกลุ่มผู้นำ (leader) บน Magic Quadrant ของ Meeting Solution (อีกรายในกลุ่มนี้คือ Microsoft Teams) (source: Gartner inc, September 2019)

Telemedicine

เดิมทีการเติบโตของผู้ใช้บริการ telemedicine ทั่วโลกนั้นไม่สูงนัก จากการเก็บข้อมูลของ Statista มีผู้ใช้งานเพียง 3 แสนรายทั่วโลกในช่วงปี 2013 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1 ล้านคนในปี 2015 และ 7 ล้านคนในปี 2018

สำหรับเรื่อง telemedicine หรือ online medical consultation ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ต้องมี social distancing นั้นคือระบบการ consult แพทย์ผ่าน VDO call, chat, telephone ผ่านระบบที่มีการ encrypted data ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล เนื่องจากมีชั้นที่เป็นความลับของข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคล

สำหรับบริการของ telemedicine แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ตามลักษณะการรับ-ส่งข้อมูล

1. การรับและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น x-ray, lab, ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอ รวมทั้งข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา

2. การติดตาม follow up ผู้ป่วย chronic disease ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล

3. การพูดคุยโต้ตอบกันได้ทันทีแบบ real-time ระหว่างผู้ป่วย และแพทย์ ผ่านระบบ video conference ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้ วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลอื่นสามารถซักประวัติผู้ป่วย สั่งตรวจร่างกาย และประเมินภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยจากโรพยาบาลที่ขอปรึกษาได้

ข้อดีของ telemedicine

1. เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในที่ห่างไกล ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อมาพบผู้เชี่ยวชาญ

2. เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้ความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

3. ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม ลดระยะเวลาการรอคอย/พักรักษาในโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาโรงพยาบาล

4. เพิ่มประสพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ (know-how) ทางการแพทย์

ข้อเสียของ telemedicine

1. ความไม่คุ้นเคยของแพทย์ในการให้คำปรึกษา online และไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีสื่อสารรูปแบบต่างๆ (ซึ่งในปัจจุบันมีคอร์สที่เปิดสอน skill การซักประวัติ และตรวจร่างกายผ่านการให้คำปรึกษา online)

2. เกิดความคลาดเคลื่อนในการรักษา เนื่องจากขาดข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินอาการ

3. ระบบที่ใช้เชื่อมต่อไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

4. ค่าใช้จ่าย/ค่าบริการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง และยังไม่มีกฎหมายรับรองชัดเจน

Telemedicine คือระบบ network เครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาของแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระ (load) การเข้ารับการรักษาดูแลสุขภาพแบบเบื้องต้น และทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยระดับที่ complicate ได้ดีขึ้น ส่วนคำว่า telemedicine นั้นจะมีเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยและ medical service ในขณะที่ telehealth จะมีความหมายกว้างๆ และมีผลในเชิงการบริหารจัดการมากกว่า

COVID-19 ทำให้ยอดผู้ใช้งาน telemedicine เติมโตอย่าสงก้าวกระโดด เพราะช่วยลดภาระ (load) การมาโรงพยาบาลของกลุ่มเสี่ยงน้อย เปลี่ยนให้กลุ่มนี้ปรึกษาแพทย์ผ่านทาง online แทน เพราะหนึ่งหน้าที่ของ telemedicine นั้น ได้ช่วยคนไข้ในขณะที่ต้อง self-quarantine 2 สัปดาห์ได้มีที่ปรึกษา ช่วยในส่วนของการแยกการคัดกรองกลุ่มคนที่เสี่ยงต่ำ ไม่ให้เคลื่อนย้ายตัวเองจากเคหะสถานโดยไม่จำเป็น ลดการไปรวมกันที่โรงพยาบาล แน่นอนย่อมทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของ supply chain อีกด้วย เพราะทำให้ไม่ต้องใช้ medical resource โดยเฉพาะอย่างยิ่ง face mask และ PPE ไปกับเคสที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเก็บอุปกรณ์ที่ว่ามาไว้ใช้กับเคส high risk เท่านั้น

มีการใช้ telemonitoring รูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ Handheld Examination Kit เช่น TytoCare ซึ่งเป็น digital stethoscope ที่ทำให้แพทย์ได้รับข้อมูลจากคนไข้ โดยไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง หรือ digital sphygmomanometer เชื่อมต่อกับ application ซึ่งข้อมูลถูกส่งตรงไปยังแพทย์ เพื่อให้การรักษาต่อไป

หลายประเทศ มีหลาย Tech startup ที่ผลิตชุดตรวจ Ab testing เพื่อหา antibody ของร่างกายต่อ COVID-19 ซึ่งจะช่วย screen ผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ (ต่างจากการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อไวรัส หรือตรวจ PCR) จับมือกับบริษัท telemedicine เพื่อส่งชุดตรวจแบบ direct to consumer ไปที่บ้าน โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจด้วยตนเอง แล้วปรึกษาแพทย์ผ่าน VDO call เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลตรวจและการดูแลตนเอง ยกตัวอย่างเช่น Scanwell Health ซึ่งเป็น USA platform provider ผู้ให้บริการตั้งแต่แบบสอบถามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 แบบ online พร้อมส่ง COVID-19 test kit (โดยความร่วมมือกับจีน) “my LAB Box” ส่งตรงถึงหน้าบ้านแล้วทำมดสอบได้จากน้ำลาย (saliva) หลังทราบผลสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ telemedicine ของบริษัท Lemonaid health

รีโมทควบคุม (remote monitoring) เป็นอีกหนึ่งการใช้งานที่ถูกพูดถึงมากในขณะนี้ในแง่การใช้เทคโนโลยีและ application เพื่อช่วยตืดตามอาการคนไข้ที่ป่วยด้วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยที่สามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรในโรงพยาบาลซึ่งมีจำกัด สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงซักถามอาการต่างๆ ได้ผ่านทาง VDO call ประเทศไทยเมื่อปี 2019 มีกระแสการพัฒนาระบบ telemedicine โดยภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น เช่น SITEL, Chiiwii LIVE, Raksa ป่วยทักรักษา, Samitivej Virtual Hospital, Ooca และในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ในนาม ‘เป็ดไทยสู้ภัย’ โดยในกลุ่มผู้ให้บริการ telemedicine ก็ได้นำการให้บริการมาลงสนามจริง และมีการใช้งานเกิดขึ้นจริง จนยอดใช้งานพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การปรึกษาแพทย์ บุคลากรทางกรแพทย์ และนักจิตวิทยา (teleconsultation) ในกรณีที่เป็นเคส เกี่ยวกับ COVID-19 นั้น บางสตาร์ทอัพให้บริการฟรี เพื่อช่วยลดภาระแพทย์ที่อยู่หน้างานได้ และคัดกรองจนได้เคสที่เสี่ยงจริงๆ เท่านั้น ก่อนส่งต่อไปที่โรงพยาบาล (teletriage) นับว่าการออกมาร่วมแรงร่วมใจของ telemedicine provider สัญชาติไทยในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการต่อสู้กับ COVID-19 และสร้างปรากฏการณ์ให้กับ telemedicine ในไทย แม้ว่าบริษัทยังต้องรองรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนา platform ระบบความปลอดภัยในการเก็บข้อมูล จำนวนเวลาในการใช้ VDO call รวมไปถึงทีมบุคลากร แต่ทุกคนยังพร้อมใจช่วยกันในสมรภูมิ COVID-19 ในครั้งนี้

ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ telehealth เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่น่าจะช่วยให้ประชากรซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตทั่วโลก ได้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยเกิดการสูญเสียในด้านต่างๆ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขอเพียงพวกเรา พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือผู้มีหน้าที่ควบคุมกฎกติกาต่างๆ เปิดใจเรียนรู้ ป้องกันข้อผิดพลาด แก้ไขข้อจำกัด เปิดโอกาสให้ telehealth ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเหมาะสม💖

เรื่องโดย... ธีรภัทร อดุลยธรรม พ.บ. ภาควิชาออร์ปิดิกส์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

วารสารกรมการแพทย์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563

21 May 2564

By Lib/STY

Views, 5752

 

Preset Colors