02 149 5555 ถึง 60

 

10 ข้อคิดในการแก้ปัญหายามวิกฤติ

10 ข้อคิดในการแก้ปัญหายามวิกฤติ

เรื่องโดย คุณพศิน อินทรวงศ์

1. เมื่อเกิดปัญหา ต้องรู้จักสร้างช่องว่างระหว่างเรากับปัญหา การสร้างช่องว่างนี้ทำให้เราไม่จมลงไปส่งนหนึ่งของปัญหา ยิ่งจมก็ยิ่งคิดอะไรไม่ออก สติคือเครื่องมือในการสร้างช่องว่าง ก่อนมีความทุกข์ ตีโพยตีพาย หยุดสักนิด ให้ช่องว่างเกิด หายใจลึกๆ ยาวๆ ค่อยๆ คิดค่อยๆแก้ไข

2. บางปัญหาแก้ได้ทันที บางปัญหาแก้วันนี้เพื่อเห็นผลในวันต่อไป บางปัญหาแก้ได้แต่ยังไม่ควรแก้ในเวลานี้ก็มีและปัญหาบางอย่างแก้ไม่ได้เลยก็มี ดังนั้น เมื่อพบปัญหาขอให้วิเคราะห์สักนิดว่าเป็นปัญหาประเภทไหน คิดมากกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ คิดไปก็ป่วยการณ์ ขอให้ทุ่มความคิดสู่ปัญหาที่แก้ได้เพียงเท่านั้น เป็นการใช้พลังงานชีวิตอย่างมีคุณค่า ลดความทุกข์ เพิ่มความสุขได้

3. ปัญหาบางอย่างคือเรื่องคน ปัญหาบางอย่างคือเรื่องสถานการณ์ ปัญหาบางอย่างคือเรื่องจิตใจของเราเอง สามส่วนนี้แก้ยากพอๆกัน แต่ควรเริ่มที่ใจตนเองก่อน ส่วนสองอย่างแรกให้จัดสรรไปตามสมควร ตามเหตุตามผล

4. ปัญหาบางปัญหากว่าจะใหญ่โตเคยเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก่อน ทว่าปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานปัญหาเล็กๆ จึงกลายเป็นปัญหาขนาดกลาง ที่สุดแล้วก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ ฐานะความเป็นอยู่ทักาะวิชาชีพ มีปัญหามากมายที่ค่อยๆส่งผล ค่อยๆเกิด ค่อยๆพอกตัวขึ้นมา หากคิดจะลงมือแก้ มักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทันที จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเคยชินบางอย่าง ค่อยๆแก้ ค่อยๆทำในสิ่งใหม่

5. เราเป็นอย่างไร สิ่งนี้คือความเคยชิน บางคนขี้โกรธ ความโกรธก็สร้างปัญหา บางคนขี้เกียจ ความขี้เกียจก็สร้างปัญหา บางคนขี้กังวล ความขี้กังวลก็จะสร้างปัญหา ดังนั้นระยะยาวหากต้องการลดปัญหา ดังนั้นระยะยาวหากต้องการลดปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตให้น้อยลง จำเป็นต้องมีการฝึกฝนลดทอนกิเลสของตนเองด้วย ผู้ใดมีความโลภ โกรธ หลงมาก ผู้นั้นย่อมมีปัญหาในชีวิตมาก ผู้ใดมีความโลภ โกรธ หลงน้อย ผู้นั้นย่อมมีปัญหาน้อยตามไป

6. ทุกครั้งที่เกิดปัญหา อย่ามัวทดท้อ ขอให้มองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในปัญหา โอกาสนั้นอาจสร้างหนทางใหม่ๆ ให้เรา หรือทำให้เราฝึกฝนพัฒนาทักษะพิเศษบางประการ หรือนำเราไปสู่ผู้คนเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ใหม่ๆที่น่าสนใจ บางปัญหาสร้างความเสียหายในช่วงแรก แต่เมื่อพลิกมุมคิดอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าได้อย่างไม่คาดฝัน

7. ปัญหาเรื่องเงินทำให้ร้อนกายใจ รู้จักใช้ รู้จักหา รู้จักบริหารจัดการ รู้จักใช้ชีวิตแบบพึ่งพาเงินทองให้น้อย ก็จะลดปัญหา ด้านเศรษฐกิจลงไปได้มาก แต่สิ่งนี้ต้องใช้เวลา ให้โอกาสตนเองได้เตรียมตัว ปัจจัยสี่คือรากฐานของชีวิต วางรากฐานให้พอสมควรแล้วรู้จักจำกัดความต้องการในตน เพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาชีพด้วยแรงขับแห่งความสนุก ไม่ใช้ความโลภนำทางชีวิต ชีวิตจะได้พบการงานอันเป็นที่รัก เมื่อได้ทำงานอันเป็นที่รัก แม้ผ่านพบเจอกับปัญหาในบางคราว ทว่า ทำงานที่รักปัญหาก็น้อยหน่อยมิใช่หรือ

8. สิ่งที่เราทำได้ เพียงทำให้ดีที่สุด ที่สุดเท่าไหน ก็ต้องยอมรับ เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำงานให้ดีที่สุด มีครอบครัวให้ดีที่สุด ผูกสัมพันธ์กับโลกและสังคมที่ดีที่สุด เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ควรฝึกกระบวนการเรียนรู้เข้าใจ ที่สุดพาเราไปไหน ก็คงต้องรู้จักจบเท่านั้นเพราะทำดีที่สุด หมายความว่าเราทำดีไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว เมื่อทำไม่ได้แล้ว ทุกข์ยากมากแค่ไหน ก็แปลว่าทำไม่ได้แล้ว

9. อย่ามองปัญหาเป็นปัญหา แต่ขอให้มองเป็นความท้าทายและความสนุกสนาน ทัศนคติเช่นนี้อาจทำได้ยากหน่อย แต่ก็ฝึกกันได้ ถ้ามีความตั้งใจ จงมองดูพระพุทธรูป ท่านทรงยิ้มอย่างไร ก็ขอให้เราทำตัวเช่นนั้น ไม่ดีใจและไม่เสียใจ ยิ้มพอดีๆ อยู่เหนือโลกเหนือปัญหาด้วยความเบิกบาน

10. ปัญหาคือส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมะ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราต่างต้องเผชิญหลีกหนีไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เหตุใดเราจึงไม่มองปัญหาตามความเป็นจริง ขอให้แก้ปัญหาไปแบบไม่ทุกข์ใจ เพราะชีวิตมีให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น พบปัญหาอย่าจม สร้างช่องว่าง มองปัญหาด้วยสติ ค่อยๆคิดแก้ไข ลงมือทำด้วยใจเบาๆ!

นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 547 ปีที่ 23 16 กรกฏาคม 2564

10 August 2564

By STY/Lib

Views, 15526

 

Preset Colors