02 149 5555 ถึง 60

 

โควิดยาว... “Long COVID” อาการหลังหายจากโควิด-19

โควิดยาว... “Long COVID” อาการหลังหายจากโควิด-19

ถนนสุขภาพ เรื่องโดย... นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

ภาวะ “โควิดยาว” (Long COVID) หรือ “กลุ่มอาการภายหลังเป็นโควิด-19” (Post-COVID Syndrome) คือ ภาวะที่มีอาการหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 (ตรวจไม่พบเชื้อโควิดแล้ว) และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายๆ เดือน (อาจเป็นปีหรือตลอดไป!)

อาการหรือกลุ่มอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในผู้ป่วย “โควิด-19” ที่เจ็บหนักหรือต้องเข้าไอซียู (ICU, intensive care unit) เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยด้วย

จากการสำรวจ ปรากฏว่า ผู้ป่วย “โควิด-19” จะเกิดภาวะ “โควิดยาว” ประมาณร้อยละ 10-40 (ตัวเลขที่ต่างกันมาก น่าจะเกิดจากการสุ่มตัวอย่างและการกำหนดเกณฑ์ของอาการว่าจะใช้อาการอะไรบ้าง และอาการนั้นต้องหนักหรือเบาหรือต่อเนื่องเพียงใด)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization. WHO) ระบุว่า อาการ/กลุ่มอาการของ “โควิดยาว” มีมากกว่า 200 อาการ

อาการ/กลุ่มอาการที่พบบ่อย/มากที่สุด เช่น อาการเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว/แรง/ไม่สม่ำเสมอ) ปวดศีรษะ สมองล้า ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ (อาจถึงขั้นเดินไม่ได้ ทำงานไม่ได้) นอนไม่หลับ เป็นต้น

อาการ/กลุ่มอาการที่พบไม่บ่อยมากนัก เช่น การไม่รับรู้กลิ่น/รส การรู้สึกหดหู่ การไม่มีสมาธิ การไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้ การไม่สามารถสื่อสาร/ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้เหมือนแต่ก่อน การรู้สึกว่าทุกส่วน/ทุกระบบของร่างกายมีปัญหาไปหมด เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วย “โควิด-19” ที่เข้าไอซียู (ใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ) ย่อมต้องผ่านความทุกข์ทรมานแสนสาหัส อาการ“โควิดยาว” นอกจากจะเกิดจากเนื้อเยื่อของร่างกาย (เช่น ปอด ตับ ไต) บางส่วนที่ถูกทำลายหรือชอกช้ำจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจเกิดจาก “ภาวะเครียดหลังบาดเจ็บ” (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) อีกด้วย

แต่สำหรับผู้ป่วย “โควิด-19” ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แล้วเกิดภาวะ “โควิดยาว” ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน นักวิชาการส่วนหนึ่งคิดว่า น่าจะเกิดจากความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว และ/หรือ ความผิดปกติทางกายภาพของเนื้อเยื่อในสมองหรืออวัยวะอื่นๆ โดยเศษซากของเชื้อ “โควิด-19” ที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีตรวจในปัจจุบัน

การรักษา

เนื่องจากอาการของภาวะ “โควิดยาว” มีมากมายหลากหลายต่างๆ กัน ถ้ามีอาการน้อย ไม่รบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติ และอาการลดลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ก็ไม่ต้องการการรักษาใดๆ นอกจากการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของตนให้แข็งแรงขึ้นๆ แล้วอาการทั้งหมดจะหายเองในเวลาไม่นาน

แต่ถ้ามีอาการจนรบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติ หรือไม่แน่ใจว่าอาการนั้นๆ เป็นอาการของภาวะ “โควิดยาว” หรือไม่ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าอาการนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะอื่นหรือโรคอื่นที่มีการรักษาโดยเฉพาะ

ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่ท่านป่วยหนักด้วย “โควิด-19” จนหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) อยู่หลายวัน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ในไอซียูเป็นเดือนและอยู่ในโรงพยาบาลร่วม ๓ เดือน

เมื่อท่านดีขึ้นจนแพทย์ให้กลับบ้าน แพทย์ที่รักษาท่านบอกให้ท่านหยุดปฏิบัติงาน และลูกเมียของท่านก็อยากให้ท่านลาออก แต่ท่านไม่ยอม กลับไปปฏิบัติงานทั้งที่ท่านมีภาวะ “โควิดยาว” อยู่

จนเมื่อ “โควิด-19” รอบใหม่ระบาดหนัก ท่านจึงตระหนักว่าสุขภาพของท่านไม่อาจรับภาระงานที่หนักหนาสาหัสได้ ท่านจึงยื่นใบลาออกจากราชการในกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564

แต่กระทรวงมหาดไทยได้ยับยั้งการลาออกของท่าน และให้ท่านย้ายไปปฏิบัติงานที่จังหวัดอ่างทอง (บ้านเกิดท่าน) ซึ่งภาระงานเบากว่ามาก ท่านจึงปฏิบัติหน้าที่ต่อโดยไม่รู้สึก “ย่อท้อ” แต่อย่างใด

จิตใจจึงสำคัญมากหรือสำคัญที่สุดในภาวะ “โควิดยาว” 

การรักษาภาวะ “โควิดยาว” อาจแบ่งเป็น

❶การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดกล้ามเนื้อมาก อาจใช้ยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้าหอบเหนื่อยอาจต้องใช้ออกซิเจน ยาขยายหลอดลม และอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าวิตกกังวล/นอนไม่หลับ อาจต้องใช้ยาคลายเครียดและ/หรือยานอนหลับ ร่วมกับการรักษาทางจิตใจตามคำแนะนำของแพทย์ เป็นต้น

❷การรักษาในขั้นทดลอง ผู้ป่วย “โควิดยาว” จำนวนหนึ่งดีขึ้นจากการได้รับวัคซีนต้านเชื้อ “โควิด-19” ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งคิดว่า อาจมีเศษซากของเชื้อ “โควิด-19” หลงเหลืออยู่ในร่างกายที่ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกาย เพื่อต่อสู้กับเศษซากเหล่านั้น เมื่อได้รับวัคซีนอาการจึงดีขึ้น ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป

❸การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ การบรรเทาความเครียดด้วยวิธีต่างๆ (ดูเรื่อง “หัวร่อต่อชีวิต” ในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับ 501 เดือนมกราคม พ.ศ.2564) การนอนหลับ/พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

❹การมีจิตใจที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น ว่าตนเองจะต้องแข็งแรงขึ้นและดำรงชีวิตต่อไปได้ดีขึ้นๆ ตามคำพังเพยที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง มุ่งมั่น ตั้งใจจะฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราเอง ไม่ช้าก็เร็ว เราจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นๆ ได้

หมอชาวบ้าน ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนพฤศจิกายน 2564

6 January 2565

By STY/Lib

Views, 2176

 

Preset Colors