นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต
ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิต
สุขภาพจิตนี้ขายไม่ได้ แม้แต่ให้ก็ยาก แต่ว่าจะต้องเพาะ
กรมสุขภาพจิตคว้ารางวัลระดับโลก Golisano Global Health Leadership Award Click Here
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในเด็ก
Children’s Depression Inventory (CDI) ฉบับภาษาไทย
บทนำ
ความรู้สึกเศร้า หรือไม่มีความสุขเป็นสิ่งที่พบได้เสมอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในผู้ใหญ่ หรือเด็ก การมีความรู้สึกเศร้าในช่วงระยะสั้นๆ และเป็นครั้งคราวนั้นถือว่าเป็นสิ่งปกติ แต่ถ้าความรู้สึกเศร้านั้นมีอยู่เป็นระยะ เวลานาน และรุนแรง จนส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ก็จัดว่าเป็นภาวะปกติ ในทางคลินิก ภาวะซึมเสร้าดังกล่าวนี้มีหลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ และความรุนแรง เช่น ภาวะซึมเศร้าอันเป็นผลจาก ความผิดปกติในการปรับตัวต่อความเครียด (adjustment disorder) โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (dysthymia) และ โรคซึมเศร้า รุนแรง (major depression) เป็นต้น
อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นความรู้สึก หรือสภาวะที่เกิดขึ้นภายในที่รับรู้ได้เฉพาะตัว ผู้ป่วย ยากแก่การสังเกตของผู้คนรอบข้าง เฉพาะเมื่ออาการนั้นมีความรุนแรง จึงจะปรากฎชัดต่อสายตาของ ผู้ใกล้ชิด เช่น ความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งรอบตัว (anhedonia) ถ้าเป็นน้อยผู้ป่วยอาจเพียงแต่รู้สึกไม่ค่อยสนุกกับสิ่งที่ เคยสนุก ถ้าเป็นมากผู้อื่นอาจสังเกตได้ว่าผู้ป่วยหงอยแยกตัวไม่ค่อยทำอะไร หรือยุ่งกับใคร ความรู้สึกผิดก็เช่นกัน ถ้าเป็นไม่มากผู้ป่วยอาจเพียงมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่ดี แต่ความรู้สึกนี้อาจแสดงออกไม่ชัดเจน จนกระทั่ง อาการทวีความรุนแรง และความรู้สึกผิดนั้นออกมาในรูปของความหลงผิด หรือหูแว่วเป็นเสียงคนตำหนิว่าผู้ป่วย ไม่ดี เป็นต้น
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า หรือ Children’s Depression Inventory:CDI ฉบับภาษาไทยเป็นแบบวัดที่ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ แปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่สร้างขึ้นโดย Maria Kovacs โดยดัด แปลงจาก Beck Depression Inventory แบบวัดนี้ประกอบด้วยคำถาม 27 ข้อ เกี่ยวกับอาการซึมเศร้าในด้านต่างๆ ที่พบในเด็ก แต่ละคำถามจะประกอบด้วยตัวเลือก 3 ข้อ ซึ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา แต่ละตัวเลือกจะมีคะแนนความรุนแรงของอาการ คะแนน 0 หมายถึง ไม่มีอาการเศร้าเลย หรือมีน้อย คะแนน 1 หมายถึง มีอาการบ่อย ๆ และคะแนน 2 หมายถึง มีอาการตลอดเวลา คะแนนรวมของ CDI มีได้แตั้งแต่ 0-52 เนื่องจากความรู้สึก และความนึกคิดของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินภาวะซึมเศร้า จึงควรมีการประเมิน ศึกษาความรู้สึก และความคิดของผู้ป่วยด้วย นอกเหนือไปจากการสังเกตของแพทย์ หรือผู้ตรวจ ดังนั้น เครื่องมือ ที่ประเมินความรู้สึก และความคิดของผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การประเมินเป้นไปอย่างครบถ้วน
คุณสมบัติของเครื่องมือ
จากการวิจัยพบว่า CDI ฉบับภาษาไทย มีค่าอำนาจจำแนกระหว่างเด็กปกติกับเด็กที่มีภาวะซึมเศร้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ P ‹ 10 กำลัง6
การศึกษาในเด็กไทยพบว่ามี reliability coefficient (Alpha) = 0.83 และมีความตรงในการจำแนก (discriminant validity) สูงจาก receiver operating characteristic curve คะแนนที่เป้นจุดตัดแยกภาวะซึมเศร้าที่มีความสำคัญทางคลินิก คือ 15 คะแนนขึ้นไป ที่คะแนนนี้ CDI ฉบับภาษาไทยมี sensitivity = 78.7% specificity = 91.3% และมี accuracy = 87% อย่างไรก็ตาม สำหรับการคัดกรองทางระบาดวิทยาสามารถใช้จุดตัดที่ 19 หรือ 21 คะแนนได
วัตถุประสงค์
>การประเมินภาวะซึมเสร้านั้น โดยทั่วไปกระทำโดยการสังเกตอาการแสดงของผู้ป่วย และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอาการ หรือความรู้สึกของผู้ป่วย การสังเกตอาการแสดงอาจจะมีปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการสอบถามข้อมูลจากผู้ป่วยเอง ก็อาจจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความรู้สึกละเอียดอ่อนของผู้ป่วย เช่น ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจขาดทักษะในการสื่อสาร ไม่สามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดเป้นคำพูดได้ดีพอ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก ก็อาจเกิดปัญหาในการให้ข้อมูลแก่แพทย์ เนื่องจากเด็กอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้การใช้เครื่องมือประเภท self-report ที่ให้ผู้ป่วยประเมินอาการของตนเองนั้น จึงเป้นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง Children’s Depression Inventory เป็นเครื่องมือประเภท self-report ที่ใช้แพร่หลายที่สุดในเด็กในปัจจุบัน
วิธีการใช้
แบบคัดกรอง CDI ประกอบด้วยคำถาม 27 ข้อ แต่ละคำถามมี 3 ตัวเลือก เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การให้คะแนนจะให้ตามความรุนแรงของอาการ
คะแนน 0 หมายถึง ไม่มีอาการเศร้าเลย
คะแนน 1 หมายถึง มีอาการบ่อย
คะแนน 2 หมายถึง มีอาการตลอดเวลา
คะแนนรวม มีได้ตั้งแต่ 0 ถึง 54
การแปลผล
ผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงกว่า 15 ขึ้นไป จากการคัดกรองถือว่ามีภาวะซึมเศร้าที่มีนัยสำคัญทางคลินิก
การนำไปใช้ประโยชน์
1. ใช้เพื่อการคัดกรองภาวะซึมเศร้า
2. ใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
3. ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามผลการบำบัดรักษา
ข้อจำกัด
1. กลุ่มเป้าหมายต้องอ่านหนังสือออก และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองได้
2. ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น อาจมีข้อคำถามบางข้อที่ไม่เหมาะสมกับอายุ ดังนั้นอาจพิจารณาใช้แบบคัดกรอง CES-D แทนได
การให้คะแนนและการแปลผลแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในเด็ก Children’s Depression Inventory (CDI) ฉบับภาษาไทย
การให้คะแนน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้กลุ่มที่ 1 ได้แก่ข้อ
ข้อ | 1 | 3 | 4 | 6 | 9 | 12 | 14 | 17 | 19 | 20 | 22 | 23 | 26 | 27 |
แต่ละข้อให้คะแนน ดังนี้
ก. ให้ 0 คะแนน
ข. ให้ 1 คะแนน
ค. ให้ 2 คะแนน
กลุ่มที่ 2 ได้แก่ข้อ
ข้อ | 2 | 5 | 7 | 8 | 11 | 13 | 15 | 16 | 18 | 21 | 24 | 25 |
แต่ละข้อให้คะแนน ดังนี้
ก. ให้ 2 คะแนน
ข. ให้ 1 คะแนน
ค. ให้ 0 คะแนน
ทั้งนี้ แต่ละข้อคำถามจะให้คะแนนตามความรุนแรงของอาการ ในแต่ละข้อ ดังนี้
คะแนน 0 หมายถึงไม่มีอาการเศร้าเลย
คะแนน 1 หมายถึงมีอาการบ่อย
คะแนน 2 หมายถึงมีอาการตลอดเวลา
การแปลผล
เมื่อรวมคะแนนทุกข้อแล้วนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ปกติดังนี้
คะแนนรวมสูงกว่า 15 ขึ้นไปจากการคัดกรองถือว่ามีภาวะซึมเศร้าที่มีนัยสำคัญทางคลินิก
เอกสารอ้างอิง
อุมาพร ตรังคสมบัติ, ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. อาการซึมเศร้าในเด็ก: การศึกษาโดยใช้ Children’s Depression Inventory. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2539: 41(4): 221-230.
อุมาพร ตรังคสมบัติ, ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. พฤติกรรมฆ่าตัวตายในเด็ก: การศึกษาในผู้ป่วยนอก แผนกกุมารเวชศาสตร์. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2536: 41(3): 174-183.
การเผยแพร
อุมาพร ตรังคสมบัติ, ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. อาการซึมเศร้าในเด็ก: การศึกษาโดยใช้ Children’s Depression Inventory. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2539: 41(4): 221-230.
อุมาพร ตรังคสมบัติ, ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. พฤติกรรมฆ่าตัวตายในเด็ก: การศึกษาในผู้ป่วยนอก แผนกกุมารเวชศาสตร์. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2536: 41(3): 174-183.
บุคคลที่สะดวกในการติดต่อประสานงานในการศึกษาเรื่องนี้
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ
หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2256-5176
โทรสาร 0-2256-5176000