02 149 5555 ถึง 60

 

‘ทำแท้ง’ทารกในครรภ์ผิดปกติ ‘ศีลธรรม’หรือ‘ความน่าเห็นใจ’

‘ทำแท้ง’ทารกในครรภ์ผิดปกติ ‘ศีลธรรม’หรือ‘ความน่าเห็นใจ’

วันอังคาร ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.

“ขอให้เกิดมาร่างกายครบ 32 สมบูรณ์แข็งแรงสติปัญญาดี” เชื่อเหลือเกินว่าความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ ทั้งในมุมมองของตนเองก็ดี หรือของพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ดีในเบื้องต้นคงไม่เกินไปกว่านี้ เพราะทรัพย์สินและสิ่งอื่นๆ หากสุขภาพพลานามัยดีตามเกณฑ์มาตรฐานปกติ ยังมีโอกาสทุ่มเทร่างกายและสติปัญญาไขว่คว้ามาได้ในภายหลังไม่มากก็น้อยตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจและมีเรี่ยวแรง ตรงกันข้ามหากร่างกายไม่สมประกอบทุพพลภาพพิกลพิการ การจะเข้าถึง “โอกาส” ยกระดับชีวิตของตนให้ทัดเทียมกับคนอื่นๆนั่นจะยากขึ้นหลายเท่าตัว

ความพิการนั้นหากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังกำเนิดถือเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ เช่น ไม่ใช้ชีวิตด้วยความประมาทจนสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุ ทว่า “ภาวะพิการแต่กำเนิด” นั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่า ลำพังพิการทางกายก็น่ารันทดแล้ว ยิ่ง “พิการสติปัญญา” ความสลดหดหู่ก็ยิ่งมากขึ้นทวีคูณ โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่ไม่ใช่คนร่ำรวยมีเงินทองมากมาย จึงกลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมมนุษย์ในระยะหลังๆ ที่ว่า “ถ้าตรวจพบความพิการของทารกตั้งแต่ในครรภ์” พ่อแม่ควร “มีสิทธิ์ยุติการตั้งครรภ์” หรือไม่?

ดังกรณีล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนม.ค. 2561 ในประเทศ อังกฤษ สื่อดังเมืองผู้ดีหลายเจ้า ทั้งสำนักข่าว BBC, เว็บไซต์หนังสือพิมพ์อย่าง The Guardian, The Times และ The Telegraph นำเสนอข่าว “วิวาทะ” ระหว่างฝ่ายหนึ่งคือ สำนักงานระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service-NHS) ที่เปิดเผยว่าจะให้หญิงตั้งครรภ์สามารถ “ตรวจเลือด” เพื่อหาความเสี่ยงว่าทารกจะมีโอกาสที่เกิดมาด้วยภาวะ“ดาวน์ซินโดรม” (Down Syndrome) โดยสามารถให้บริการตรวจแก่สตรีมีครรภ์ได้ราว 1 หมื่นคนต่อปี

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากสถิติที่ระบุว่า “ในทุกๆ ปีจะมีเด็กในอังกฤษและเวลส์ เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรม 750 คน” โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมในกลุ่มสหราชอาณาจักร (UK) รวมกันราว 4 หมื่นคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งลักษณะสำคัญของผู้เป็นภาวะดาวน์ซินโดรมคือ “สติปัญญาบกพร่อง” มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน

รวมถึงมี ค่าเชาวน์ปัญญา (IQ) อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของคนทั่วไป กล่าวคือ IQ ของคนปกติมาตรฐานจะอยู่ที่ 90-109 และระดับต่ำกว่ามาตรฐานแต่ยังพอเรียนรู้ได้อย่างคนปกติแม้จะช้าไปบ้างอยู่ที่ 80-89 ทว่าสำหรับผู้ที่เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรมจะมี IQ ต่ำกว่านั้นลงไปอีก อีกทั้งในบางรายยังมาพร้อมกับอาการทางจิตเวชอื่นๆ เช่น สมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ นอกจากนี้สภาพร่างกายก็ยังมีปัญหา อาทิ ระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย ระบบโลหิตที่มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าคนปกติ เป็นต้น

แม้จะมีเจตนาดี แต่ในอีกมุมหนึ่งหากมองในแง่“ศีลธรรม” ก็อาจจะดู “หมิ่นเหม่” อยู่ไม่น้อย ทำให้อีกฝ่ายคือ คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) ออกมาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับนโยบายของ NHS เนื่องจากจะกลายเป็นการ “ยั่วยุให้ทำแท้งมากขึ้น” หากวินิจฉัยพบว่าทารกในครรภ์มีภาวะดาวน์ซินโดรม โดยมีสถิติระบุว่า จำนวนทารกที่ถูกทำแท้งเพราะตรวจพบว่าเป็นดาวน์ซินโดรม เพิ่มจาก 482 ศพในปี 2553 เป็น 706 ศพในปี 2559

ความกังวลของฝ่ายศาสนจักรเมืองผู้ดี คือเมื่อมีการวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์มีโอกาสเกิดมากับภาวะดาวน์ซินโดรมแพทย์บางรายมักจะเอ่ยกับคนเป็นพ่อแม่ทันทีว่า “นี่คือข่าวร้าย” และรีบแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์เสีย ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือ “การให้ข้อมูลที่เป็นกลางและรอบด้าน” ว่าหากพ่อแม่เลือกที่จะไม่ทำแท้ง จะสามารถเลี้ยงดูและพัฒนาศักยภาพลูกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมได้อย่างไร

ฝ่ายศาสนจักรอังกฤษได้กล่าวย้ำด้วยว่า ณ วันนี้ผู้เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรมสามารถเข้าร่วมกับสังคมได้มากขึ้น และมีชีวิตอย่างเป็นอิสระหรือกึ่งอิสระ อีกทั้งยังมีอายุยืนยาวถึง 60 ปี มากกว่าในปี 2472 ที่ผู้เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรม จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 9 ปี และในปี 2513 ดังนั้นจึงกังวลว่า หากนโยบายของ NHS มีผลบังคับใช้อาจทำให้ภาวะดาวน์ซินโดรม “หายสาบสูญไป” จากโลกหรือจากสังคมมนุษย์

ย้อนกลับมายัง ประเทศไทย ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้แพทย์ทำการยุติการเจริญพันธุ์ หรือทำแท้งหญิงตั้งครรภ์ คือ ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548โดยใน “ข้อ 5” ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (กรณีเพื่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1) เป็นกรณีที่ “จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์” หรือ (2) เป็นกรณีที่ “จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์” ซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน “ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์ มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง”

เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (2) ทั้งนี้ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน

ส่วนใน “ข้อ 6” ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา (กรณีตั้งครรภ์เพราะถูกล่วงละเมิดทางเพศ) นั้น ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทว่า“แม้เป็นการยุติการตั้งครรภ์ในกรอบของกฎหมาย” แต่ในทางสังคมแล้วผู้เกี่ยวข้องก็ยังถูก “ดูหมิ่นเหยียดหยาม” จากคนรอบข้าง

งานวิจัยเรื่อง “คือนักบุญหรือคนบาป : การตีตราผู้ให้บริการด้วยผลพลอยบาปจากการทำแท้ง” ผลงานของ กุลภา วจนสาระ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเก็บข้อมูลด้วยการ “สัมภาษณ์เชิงลึก” บุคลากรสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ฯลฯ รวม 34 คน ที่รับหน้าที่ยุติการตั้งครรภ์ อาทิ หลายคนเจอปัญหาเพื่อนร่วมงานซุบซิบนินทา พูดจาประชดประชัน ถูก “ตีตรา” ว่าเป็น “คนบาป” ทั้งขู่ทั้งปลอบว่า “เปลี่ยนอาชีพเถิด” จะได้ไม่เสียภาพลักษณ์ไม่ต้องถูกสังคมมองในแง่ลบ

แม้รายละเอียดจะแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ “ข้อถกเถียง” ของสังคมทั้งไทยและอังกฤษ ระหว่างฝ่ายที่มองถึงความจำเป็น เห็นอกเห็นใจผู้เป็นแม่ที่บางกรณีหากปล่อยให้คลอดออกมาอาจไม่สามารถเลี้ยงดูได้จนลำบากทั้งแม่ทั้งลูกกับฝ่ายที่กังวลในแง่ศีลธรรม บ้างมองว่าเด็กที่จะมาเกิดนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครกันที่มีสิทธิ์ตัดสินว่าควรให้อยู่หรือตาย? บ้างมองว่าอย่างไรการทำแท้งก็คือการฆ่า และการฆ่าก็เป็นบาปจึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว

ทั้งนี้ต้องย้ำว่าทีมงาน “แนวหน้าวาไรตี้” มิได้มีเจตนาจะส่งเสริมหรือสนับสนุนการทำแท้งเสรี เพียงแต่ที่ยกกรณีศึกษาทั้งจากต่างประเทศและในประเทศไทยมากล่าวถึง ก็เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ให้พูดคุยเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขความจำเป็นบางประการเท่านั้น...ว่าสังคมไทยคิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร?

30 January 2561

ที่มา แนวหน้า

Posted By STY_Lib

Views, 7552

 

Preset Colors