02 149 5555 ถึง 60

 

1,000 วันแรกของชีวิต โอกาสทองสร้าง “เด็กไทย” คุณภาพ

1,000 วันแรกของชีวิต โอกาสทองสร้าง “เด็กไทย” คุณภาพ

โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ประเทศไทยกำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบในปี 2564 คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เด็กไทยกลับเกิดน้อยลงเสียจนน่าตกใจ โดยปี 2560 อัตราการเกิดใหม่น่าจะไม่ถึง 7 แสนรายด้วยซ้ำ และที่น่าวิตกคือ ส่วนหนึ่งเป็นการเกิดน้อยที่ด้อยคุณภาพเสียด้วย

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเพิ่มอัตราการเกิดใหม่นั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ยังไม่สามารถทำได้ แม้จะมีมาตรการให้เงินส่งเสริมเพื่อการมีบุตรก็ตาม ส่วนประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ โดยปัจจุบันอัตราการการมีบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนทางประชากรซึ่งควรต้องอยู่ที่ 2.1 คน นอกจากนี้ การเกิดส่วนหนึ่งเป็นการเกิดด้อยคุณภาพ เนื่องมาจากการเกิดในแม่วัยรุ่นที่ไม่มีความพร้อม ขณะที่คนที่มีความพร้อมก็แต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง และเมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของเด็กก็พบว่า ในปี 2560 เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 23.2 ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 42 หรือ 1 ใน 3 ดังนั้น แม้จะมีอัตราการเกิดน้อย แต่ก็ต้องทำให้การเกิดนั้นมีคุณภาพมากที่สุด

นพ.วชิระ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบว่า จังหวัดนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเร็วกว่าระดับประเทศ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 19 แล้ว คาดว่าไม่เกินปี 2561-2562 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ แต่อายุขัยเฉลี่ยกลับต่ำกว่าระดับประเทศ แสดงว่ามีอัตราการเกิดน้อย แต่จากการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เพื่อส่งเสริมให้อัตราการเกิดนั้นมีคุณภาพมากที่สุด โดยดูแลตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด จนถึงอายุ 2 ขวบ ถือเป็นการตอบโจทย์ประเทศ และเป็นต้นแบบในการดำเนินการให้แก่พื้นที่อื่นได้ ซึ่งไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีเศรษฐานะอย่างไร หากได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ก็สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้ ก็จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สูงดีสมส่วน และเมื่อเข้าสู่การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งจะต้องมีการวัดไอคิวและอีคิว เชื่อว่าไอคิวจะต้องเกิน 100 จุดแน่นอน

สำหรับโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตนั้น นพ.สุผล ตติยนันทพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา อธิบายว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้อัตราการเกิดมีคุณภาพมากที่สุด ลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิด เพิ่มพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้มีความสมวัย มีภาวะโภชนาารที่ดี สูงดีสมส่วน โดยเป็นการดำเนินการที่ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลหญิงตั้งครรภ์ สร้างความผูกพันระหว่างเด็ก ครอบครัว และชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน โดยปี 2560 ได้เลือกพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ปากช่อง อ.พิมาย อ.ด่านขุนทด อ.โนนสูง และ อ.สูงเนิน โดยปี 2561 ก็ได้มีการประกาศนโยบายขยายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตในทุกอำเภอของ จ.นครราชสีมา

นพ.สุผล กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ในส่วนของ อ.พิมายนั้น แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ 1.ระยะก่อนการตั้งครรภ์ จะเน้นการป้องกันความพิการแต่กำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนยาเม็ดโฟลิก 5 มิลลิกรัม และยาเม็ดธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมให้แก่ครอบครัวที่กำลังจะมีบุตร ซึ่งยิ่งได้รับก่อนการมีบุตรก็จะยิ่งดี เพราะเป็นการเตรียมความพร้อม โดยการค้นหาคู่รักคู่ไหนที่กำลังจะมีบุตร ก็ได้มีความร่วมมือกับร้านพรีเวดดิ้งในการช่วยประชาสัมพันธ์โครงการและให้ข้อมูล ก็ช่วยให้เข้าถึงคู่รักที่กำลังจะแต่งงานสร้างครอบครัวและวางแผนที่จะมีบุตรให้ได้เตรียมความพร้อมได้

2.ระยะฝากครรภ์ หรือ 270 วันแรกของการตั้งครรภ์ จะเน้นให้เกิดการฝากท้องที่มีคุณภาพ คือการเสริมนมและไข่ 90 วัน 90 กล่อง และเกลือไอโอดีน โดยได้รับงบประมาณจากทางท้องถิ่น แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่เพียงพอในการดำเนินการ ซึ่งพระครูวาทีธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดป่าพิมาย ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงร่วมดำเนินโครงการนมก้นบาตร และสังฆทานนมจืด เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กที่จะเกิดมาในชุมชน โดยใช้นมจืดใส่บาตร และถวายสังฆทานด้วยนมจืด โดยนมจืดที่ได้นั้นจะมีการรวบรวมแล้วกระจายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการจัดเก็บและแจกจ่ายให้แก่หญิงตั้งครรภ์

“นอกจากนี้ ยังมีโครงการแม่แสงธรรมบวร โดยบวรมาจากตัวย่อของคำว่า บ้าน วัด และโรงพยาบาล ที่สมานสามัคคีในการดูแลเด็ก โดยบวรคือประเสริฐเลิศล้ำ กิจกรรมดังกล่าวจะนำหญิงตั้งครรภ์พร้อมสามีเข้าร่วมการสวดมนต์ ทำสมาธิ ฟังธรรม ทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน เพื่อให้จิตใจสงบ สร้างพลังศรัทธา คุณค่าบทบาทความเป็นพ่อและแม่” นพ.สุผล กล่าว

นพ.สุผล กล่าวว่า อีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการในระยะนี้คือ โรงเรียนพ่อแม่ โดยกิจกรรมมีการสอนบทบาทพ่อแม่การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ ภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพช่องปาก การฝึกออกกำลังกายหญิงตั้งครรภ์ กิจกรรมกอดเติมรัก เพื่อซึมซาบความเป็นพ่อและแม่ และการพาทัวร์ห้องคลอดเพื่อลดความตื่นตระหนกของหญิงตั้งครรภ์และญาติ ให้มีความคุ้นชินกับห้องคลอด เห็นแนวทางการดำเนินงาน เมื่อเวลาคลอดจริงจะได้ไม่ตื่นเต้น ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติและผ่าคลอด พร้อมอธิบายขั้นตอนการคลอด ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างหญิงตั้งครรภ์ ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เขาเข้าใจการดำเนินงาน และหากเกิดปัญหาในการคลอด ตรงนี้จะทำให้เขาเข้าใจการทำงานมากขึ้น รู้ว่าเราตั้งใจทำเพื่อพวกเขาจริงๆ ก็จะช่วยลดการฟ้องร้องลงไปได้

3.ระยะคลอด เน้นห้องคลอดคุณภาพ โดยแม่เกิดรอด ลูกปลอดภัย มีการซ้อมแผนภาวะฉุกเฉิน และเปิดการเยี่ยมรับขวัญในโรงพยาบาล 4.ระยะแรกเกิดถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยให้ยาเสริมธาตุเหล็กแก่หญิงให้นมบุตร มีคลินิกนมแม่จัดนะกร้าเยี่ยมบ้าน ดึงชุมชนร่วมต้อนรับเด็กใหม่ในชุมชน โดยจัดพิธีรับขวัญหลานเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน มอบกระเช้าของขวัญที่จัดโดยชุมชนเอง และ 5.ระยะ 6 เดือน ถึง 2 ปี รวม 550 วัน เน้นพัฒนาการสมวัย ฟันแข็งแรง โดยมีการตรวจคัดกรองพัฒนาการ จ่ายยานำเสริมธาตุเหล็ก และดูแลสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมอาหารตามวัย ชวนผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุทำของเล่นมอบให้แก่เด็กในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เป็นต้น

ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า สาเหตุที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรับประทานนมมากๆ นั้น จริงๆ แล้วต้องบอกว่าคนตั้งครรภ์ไม่ได้ต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติเลยคือต้องการ 800 มิลลิกรัม หรือนมประมาณ 3 กล่อง เพียงแต่ที่คนท้องต้องกินนมเพิ่ม เนื่องจากำบว่าหญิงไทยปกติก็กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อยอยู่แล้ว ไม่เพียงพอ ตอนตั้งครรภ์จึงต้องส่งเสริมให้ทานนมเพิ่ม คือควรดื่มให้ได้วันละ 3 แก้ว แต่คนที่ไม่เคยดื่มอาจเริ่มดื่มแต่น้อย แล้วเพิ่มอาหารอื่นที่มีแคลเซียม เนื่องจากท้องอาจปั่นป่วนได้ และอาจต้องระวังโปรตีนจากนมวัว เพราะหากดื่มมากก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กที่เกิดมาแพ้นมวัวได้

ความมหัศจรรย์ของโครงการคือ หลังจากดำเนินการในปี 2560จนถึงปัจจุบัน พบว่า ไตรมาสสองของปี 2561 อัตราทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนด มีน้ำหนักตัวเกิน 2,500 กรัมทั้งสิ้น แต่หากรวมกับทารกคลอดก่อนกำหนดแล้ว ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมนั้นมีไม่เกิน 7% ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเด็กที่เกิดมานั้นมีคุณภาพ และเมื่อมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพมากที่สุด

13 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 861

 

Preset Colors