02 149 5555 ถึง 60

 

ป้องภัยใกล้ตัวลูกจาก Cyber bullying

ป้องภัยใกล้ตัวลูกจาก Cyber bullying

“น้องเอกถูกแกล้งบนโลกออนไลน์มาโดยตลอด ปีที่แล้วถูกล้อเลียนผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย ก็เสียใจมาปรึกษาพ่อแม่ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ปลอบใจว่าเพื่อนล้อเล่นกัน ไม่เป็นไรหรอก เพราะเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้อาการของลูกไม่ใช่เล่นๆ แล้วค่ะ เขาเริ่มบ่นไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากมีเพื่อน ไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว"

แม่ของน้องเอกมาหารือเรื่องจะพาลูกไปพบจิตแพทย์ !

สอบถามได้ความว่าลูกถูกเพื่อนรังแกจนทนไม่ไหวแล้ว และแม่ก็ตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เสียแล้วด้วย แต่ปัญหานี้กำลังจะทำร้ายลูกของเธอ

ปัญหาเรื่องเด็กทะเลากัน หรือมีปัญหากัน ไม่ว่าจะที่โรงเรียน หรือบนโลกออนไลน์ ไมใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่คนเป็นพ่อแม่จะปล่อยผ่านไปง่าย ๆ หรือดูเบาปัญหานะคะ

เพราะยุคปัจจุบันมีเครื่องมือในการทำร้ายกันระหว่างเด็ก ที่เกินขอบเขตของความพอดีในหลากหลายรูปแบบ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องคอยสอดส่อง และคอยมองดูอย่างห่าง ๆ แบบติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะการรังแกกันบนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyber bullying

Cyber bullying คือ การรังแกในรูปแบบการด่าทอ กล่าวหา ใช้ถ้อยคำเสียดสี ต่อว่าผู้อื่น โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชท หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน โดยเป็นการเฉพาะเจาะจงบุคคลเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรังแกที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ

การกระทำแบบนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการแกล้งกันทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะในโลกออนไลน์นั้น ผู้รังแกไม่ได้เผชิญหน้ากับคู่กรณีจริงๆ และในโลกออนไลน์ การกระจายข้อมูลข่าวสารนั้นแพร่กระจายไปได้เร็วมาก นั่นหมายความว่าอาจทำให้ฝ่ายที่ถูกรังแกอับอายขายหน้า หรือทนไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาบานปลาย

นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยกล่าวถึงผลการวิจัยขั้นต้น (preliminary) เรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80 % มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66 % ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12 % ที่ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45 % มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า

โดยรูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายาที่ 79.4 % ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4 % และคนอื่นไม่เคารพ 46.8 % ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ การถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และการถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าคนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือเพื่อน สูงถึง 89.2 % ตามด้วยผู้ปกครอง 59 % พี่น้อง 41.2 % โดยครูเป็นลำดับสุดท้าย

และผลที่ตามมา เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง ก็จะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกจากสังคม เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน หนีเรียน ขาดสมาธิ ผลการเรียนตกลง มีอาการซึมเศร้า ใช้สารเสพติด และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการพัฒนาการถึงขั้นตราเป็นกฎหมาย

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะปัญหาเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เพิ่มจำนวนและความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะในบ้านเรา ที่มีการประมาณการว่าเราไต่ระดับการรังแกกันบนโลกออนไลน์ไปสู่อันดับ 5 ของโลก

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ในสังคมต้องตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะเด็กและเยาวชนในบ้านเราเข้าสู่โลกออนไลน์กันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และโดยวัยก็ยังอายุน้อยจึงยังขาดวิจารณญาณ หรือการรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเคยมีตัวอย่างที่กลายเป็นโศกนาฎกรรมก็บ่อยทั้งในและต่างประเทศ

มีคำแนะนำมาฝากพ่อแม่ที่ควรเตรียมป้องภัย ใกล้ตัวลูกจาก Cyber bullying ค่ะ

ประการแรก - ต้องตระหนักถึงปัญหา

พ่อแม่ต้องปรับความคิดก่อนว่า การรังแกกันบนโลกออนไลน์มีอยู่จริง และไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ระหว่างลูกกับเพื่อน หรือเป็นเพียงแค่เรื่องเด็กทะเลาะกัน เดี๋ยวก็คืนดีกันเท่านั้น แต่หากลูกมาเล่าว่าถูกรังแกผ่านทางออนไลน์ พ่อแม่อย่าเฉยเมย หรือปล่อยผ่าน แต่ควรจะรับฟัง และพยายามหาทางช่วยเหลือเมื่อลูกร้องขอ

ประการที่สอง - หาทางช่วยเหลือ

สิ่งที่ควรทำต่อมาก็คือ สอบถามความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร และพยายามช่วยหาทางออกหรือแนะนำ เช่น ให้ลูกลองพูดกับเพื่อนตรง ๆ ว่าไม่ชอบให้ทำแบบนี้ หรือบอกเพื่อนว่าอย่ามาแกล้งกันแบบนี้เลยนะเพราะเราไม่ชอบอย่างไร ถ้าไม่สำเร็จค่อยใช้ตัวช่วย หรือขอให้คุณครูช่วยเจรจา หาต้นตอของปัญหา และช่วยแนะนำหาทางแก้ไขปัญหา

ประการที่สาม - ฝึกให้รับมือกับปัญหา

พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร นอกเหนือจากการให้กำลังใจ ก็อาจชี้ให้เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ที่เราจะไปสนใจที่เพื่อนมาแกล้ง เพราะเมื่อเขาแกล้ง แล้วเราโกรธหรือมีปฏิกิริยา ก็อาจยิ่งทำให้เขาแกล้งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าในทางตรงข้าม เราไม่สนใจ เขาก็จะเลิกสนใจไปเอง หรืออาจสอนให้ใช้วิธีจัดการและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ปิดเครื่องมือสื่อสาร ปิดแอคเค้านท์ บล็อกคนนั้นไปเลย

ประการสุดท้าย - พร้อมรับฟัง

บอกให้ลูกรู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่พร้อมรับฟัง และยืนเคียงข้างลูกเสมอ เวลาคับข้องใจหรือไม่พอใจ และไม่อยากรับมือเรื่องนั้น ๆ โดยลำพัง พ่อแม่ก็พร้อมสำหรับลูกเสมอ เป็นการตอกย้ำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ

ทั้งหมดนี้จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องผ่านด่านปราการที่เข้มแข็งมาในระดับหนึ่งแล้ว คือพื้นฐานครอบครัวอบอุ่น มีความรักความเข้าใจกันในระดับสำคัญ จะเสมือนเป็นวัคซีนใจให้กับลูกได้เป็นอย่างดี

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องสอนให้ลูกรู้จักเคารพตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย การทำให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง และพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา เท่ากับเป็นการรับมือกับปัญหาได้ทุกสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ก็ควรสอนลูกด้วยว่า เมื่อไม่อยากให้ใครรังแกเราบนโลกออนไลน์ เราก็ไม่ควรจะไปรังแกใครเช่นกัน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อไม่ต้องการให้ใครทำกับเราอย่างไร เราก็อย่ามีพฤติกรรมนั้น ๆ กับคนอื่นเช่นกัน

แม้ Cyber bullying จะเป็น “ภัยใหม่” ที่มากับโลกยุคใหม่ แต่ “ยาขนานเก่า” ยังคงทั้งป้องกันและเยียวยาได้อยู่เสมอ

22 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 9379

 

Preset Colors