02 149 5555 ถึง 60

 

โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้ แต่รักษาไม่ได้ตายสถานเดียว

โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้ แต่รักษาไม่ได้ตายสถานเดียว

สัปดาห์นี้คงไม่มีเรื่องไหนฮอตเท่า “โรคพิษสุนัขบ้า” เพราะระบาดไปทั่วประเทศไทยแล้ว ไปติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันดีกว่า…

“โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคระบาดจากสัตว์สู่คนซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ก่อให้เกิดโรคในสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ได้แก่ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว   สัตว์ทั่วไป เช่น วัว ควาย กระต่าย กระรอก กระแต หนู ลิง ชะนี ค้างคาว สัตว์ป่า เช่น เสือ หมี และ ยังรวมถึงคนอีกด้วย           

การติดเชื้อ “โรคพิษสุนัขบ้า” ส่วนใหญ่มีสุนัขเป็นพาหะ สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากการถูกกัด และถูกข่วนตามร่างกาย ถูกเลียที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล รวมถึงการถูกน้ำลายกระเด็นเข้าทางตาและทางปากอีกด้วย

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีการฟักตัวและการเพิ่มขึ้นของเชื้อเป็นลำดับตามระยะเวลาที่ติดเชื้อ โดยเข้าสู่แขนงประสาทของประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคจะมีอาการคลุ้มคลั่งกระวนกระวาย ดุร้าย และเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ไขสันหลังแล้วจะทำให้สมองทำหน้าที่ผิดปกติเป็นอัมพาตและนำไปสู่การเสียชีวิตในด           

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ใน 38 จังหวัด ปัจจุบันคงเหลือ 24 จังหวัด เพื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมในระยะ 5 กม. รอบจุดเกิดโรค ทำให้สามารถระบุชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องควบคุมได้ทุกชนิด

จังหวัดที่พบโรคมากที่สุด คือภาคเหนือ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ภาคใต้ จ.สงขลา

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่เดือน ม.ค. - 18 มี.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 6 ราย ได้แก่ รายที่ 1 หญิงวัยกลางคนเสียชีวิตเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากการมักให้อาหารแก่สุนัขจรจัด ที่ จ.สุรินทร์ รายที่ 2 ผู้เสียชีวิตถูกสุนัขไม่มีเจ้าของกัดที่ จ.สงขลา 

รายที่ 3 ชายวัยกลางคนเสียชีวิตเพราะถูกสุนัขกัดที่ จ.นครราชสีมา รายที่ 4 ชายวัย 44 ปี เสียชีวิตเพราะถูกลูกสุนัขกัดและข่วนที่ จ.ตรัง รายที่ 5 ชายวัย 61 ปีเสียชีวิตเพราะถูกแมวกัดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ รายที่ 6 เด็กหญิงวัย 14 ปีเสียชีวิตเพราะถูกลูกสุนัขข่วนที่ จ.บุรีรัมย์  ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ แม้จะยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดโรค พบมีสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 6 ตัว ใน 4 เขต คือ เขตดอนเมือง บางเขน จตุจักร และบางซื่อ

สถานการณ์การเสียชีวิตของคนที่เกิดจาก “โรคพิษสุนัขบ้า” ปี 2561 น่าเป็นห่วงยิ่งเพราะหากมองสถิติย้อนหลังตามที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถิติถึงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยในระหว่างปี 2558-2560 มีการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ 

พบว่ามีสัตว์ติดเชื้อ 330,614 ตัว เป็นสุนัข ร้อยละ 89.1 โคและกระบือ ร้อยละ 6.6 แมว ร้อยละ 3.5 สัตว์อื่นๆ ร้อยละ 0.8 อัตราการเสียชีวิตของประชากรไทย ปี 2558 เสียชีวิต 4 คน ปี 2559 เสียชีวิต 14 คน ปี 2560 เสียชีวิต 11 คน

ผู้ที่เลี้ยงสุนัขจึงอย่าได้ประมาทและชะล่าใจ ต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกๆ 1 ปี หากมีลูกสุนัขเกิดใหม่จะต้องนำไปฉีดวัคซีนระหว่างมีอายุ 2-4 เดือน เมื่อฉีดวัคซีนครบหนึ่งเดือนแล้วให้นำลูกสุนัขไปฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 2 เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ เมื่อครบ 1 ปี ให้นำสุนัขไปฉีดทุกครั้ง  

ส่วนผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วนตามร่างกาย ถูกเลียที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นบาดแผลจะต้องปฏิบัติให้ถูกวิธีในเบื้องต้นโดยการล้างด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่เพื่อลดจำนวนเชื้อโรค รวมถึงใช้น้ำยาค่าเชื้อล้างแผลแล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน           

การรับรู้เกี่ยวกับ “โรคพิษสุนัขบ้า” ของผู้คนทั่วไปมีข้อมูลที่น่าตกใจว่ายังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง  ดังที่ปรากฏจากผลสำรวจความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า มีดังนี้ประชาชน 11,369 คน พบว่าร้อยละ 60 ประชาชนคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ร้อยละ 34 ไม่ทราบว่าหากฉีดวัคซีนไม่ครบชุด ไม่ตรงตามกำหนดนัดอาจตายได้ ถ้าสุนัขที่มากัดเป็นสุนัขบ้า ร้อยละ 32 ไม่ทราบว่าการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง และทายาเบตาดีน ช่วยลดเชื้อที่บาดแผลได้          

กฎหมายที่ประชาชนควรรู้ คือข้อกำหนดทางกฎหมายตาม พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ให้เจ้าของสุนัขต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามช่วงอายุที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้แมวเป็นสัตว์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกับสุนัข โดยให้เจ้าของแมวนำแมวไปฉีดวัคซีนตามกำหนดระยะเวลาไม่เช่นนั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

อย่างไรก็ตามพึงทราบว่าในปัจจุบันประชากรสุนัขเลี้ยงทั้งประเทศมีประมาณ 10 ล้านตัว และยังมีสุนัขจรจัดอีก 1 ล้านตัว ฉะนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของสุนัขหากไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนตามกำหนดระยะเวลา และยังทิ้งสุนัขของตนให้เป็นภาระของสังคม

โดยเลิกเลี้ยงแล้วนำไปปล่อยในชุมชน ที่สาธารณะหรือวัด จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ไปสู่ความเลวร้ายยิ่งขึ้น แม้ว่าหน่วยงานของรัฐจะมีมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์อย่างไรก็ตามก็ยากที่จะสำเร็จได้ การมีความรับผิดชอบของประชาชนที่มีต่อสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้ลงได้

 แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการและวิธีการต่างๆ ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคพิษสุนัขบ้า” อย่างเต็มที่ก็ยากที่จะควบคุม “โรคพิษสุนัขบ้า” ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล....

22 March 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By sty_lib

Views, 2937

 

Preset Colors