02 149 5555 ถึง 60

 

ให้ยาต้านเอชไอวี ลดติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ครอบคลุมเกือบ 100%

ให้ยาต้านเอชไอวี ลดติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ครอบคลุมเกือบ 100%

เผยแพร่: 29 มี.ค. 2561 14:06: ปรับปรุง: 29 มี.ค. 2561 20:49: โดย: MGR Online

สธ. เผยให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี “หญิงท้องติดเชื้อ“ ได้ 95% ให้ยาในเด็กทารกคลอดจากแม่ติดเชื้อ 99.5% ห่วงฝากครรภ์ยังน้อย 66% พบภาวะโลหิตจาง 17% อัตราแม่ตายยังอยู่ที่ 19 - ต่อแสนการเกิดมีชีพ เลี้ยงลูกด้วยนมแม้ 64%

วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็กครั้งที่ 10 เพื่อการพัฒนาศักยภาพและกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัยรอบด้านอย่างยั่งยืน “องค์กรยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสในทารกแรกเกิด” ว่า กรมอนามัยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกตั้งแต่ปี 2554 โดยให้โรงพยาบาลภาครัฐจัดบริการปรึกษาแบบคู่ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแก่หญิงตั้งครรภ์และสามี โดยให้ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง (HARRT) แก่ทารกทันทีที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี และได้รับนมผงแทนนมแม่เป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งผลการดำเนินงานเอดส์ในแม่และเด็ก ปี 2560 พบว่า มีความครอบคลุมของการให้บริการปรึกษาเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 99.7 ความครอบคลุมของการได้รับยาต้านไวรัสในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 95.1 ความครอบคลุมของการได้รับยาต้านไวรัสในเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 99.5 และได้มีการจัดการเชิงรุกเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดร้อยละ 1.67

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กปี 2560 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 66.40 หญิงตั้งครรภ์ได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนคิดเป็นร้อยละ 79.47 และมีภาวะโลหิตจางคิดเป็นร้อยละ 17 อัตราส่วนการตายมารดาเท่ากับ 19.0 ต่อแสนการเกิดมีชีพ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 64.98 เด็กอายุ 9 เดือน 18 เดือน และ 30 เดือนได้รับการตรวจประเมินพัฒนาการตามเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 81.41 เด็กแรกเกิด - 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 95.84 สูงดีสมส่วนร้อยละ 49.64 มีภาวะเตี้ยร้อยละ 12.35 มีภาวะผอมร้อยละ 5.4

“ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการติดตามให้รับบริการตามมาตรฐานอย่างครอบคลุม การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและนักส่งเสริมสุขภาพเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย อีกทั้งพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสร้างแนวคิดการพัฒนาศักยภาพของคนตามช่วงวัยส่งต่อจากวัยสู่วัยอื่นอย่างมั่นคง เพื่อการพัฒนากลุ่มสตรีและเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ลดการเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้มุ่งสู่การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกอย่างยั่งยืน” นพ.โอภาส กล่าว

30 March 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By STY_Lib

Views, 657

 

Preset Colors