02 149 5555 ถึง 60

 

สร้างวัดให้มีคุณค่า-คิดหวังให้น้อย วัคซีนแก้โรคซึมเศร้าลดฆ่าตัวตาย

สร้างวัดให้มีคุณค่า-คิดหวังให้น้อย วัคซีนแก้โรคซึมเศร้าลดฆ่าตัวตาย

27 เมษายน พ.ศ. 2561 เวลา 00:01 น.

(“ธรรมสถาน” แหล่งพักพิงใจที่ช่วยลดปัญหาโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุและคนทั่วไป โดยอาศัยหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าในการช่วยคลายทุกข์ อีกทั้งสร้างความปล่อยวางให้ชีวิต)

เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเกือบแซงหน้าญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศโซนยุโรป กับปัญหาการ “ฆ่าตัวตาย” ที่ปัจจุบันพบได้ทั้งทุกช่วงวัย รวมถึงวัยสูงอายุ และพบได้เกือบทุกวัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า เหงา จากการที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง รวมถึงการที่ผู้สูงวัยเจ็บป่วยและไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลาน กระทั่งคนสูงวัยบางรายที่ประสบปัญหากับธุรกิจและหน้าที่การงานจึงเลือกที่จะคิดสั้น แต่อย่าลืมว่าทุกปัญหาย่อมมีทางป้องกันและแก้ไขเสมอ โดยเฉพาะการหันหน้าพึ่ง “พระพุทธศาสนา” อย่างการสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิภาวนา แต่การป้องกันโรคซึมเศร้าทั้งปวงนั้นต้องเริ่มจากการปรับวัดให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของผู้สูงวัยให้สามารถรับมือการภาวะ “คิดสั้น” ได้

พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ให้ข้อมูลว่า “ทุกวันนี้มีผู้ที่โทร.เข้ามาปรึกษาหลวงพ่อค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับเรื่องการ “ฆ่าตัวตาย” จากความทุกข์เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สำหรับเคสของผู้สูงอายุนั้นจะประกอบด้วย 3 ด้านหลักๆ คือ “ว้าเหว่” จากการที่ต้องอยู่คนเดียว หรือแม้แต่ผู้ที่เกษียณอายุราชการและต้องอยู่ลำพัง โดยขาดการเข้าสังคม รองลงมาคือ “เจ็บป่วย” โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างโรคหัวใจ, อัมพฤกษ์ อัมพาต, ขาไม่ดี, ตาบอดมองไม่เห็น ที่ทำให้ท่านต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างทรมาน ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ผู้สูงอายุอยากคิดสั้น เพราะไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลาน ประการสุดท้ายคือ “พลัดพราก สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก” กระทั่งการถูกโกงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ ทำให้สิ้นหวังจนไม่ต้องการอยู่บนโลกใบนี้ เพราะคิดว่าทุกอย่างจบสิ้นลงไป ไม่เหลืออะไรแม้แต่สมบัติที่สร้างสมมาตลอดชีวิต

จากมูลเหตุฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเองหรือแม้แต่คนวัยหนุ่มสาว จึงนำมาสู่การ “ทบทวนสติ” โดย การที่คนหลัก 5 หลัก 6 ฝึกสติได้ทั้งจากที่บ้านและที่วัด เพราะการที่คนชราได้มานั่งสงบและทำสมาธิภาวนา อีกทั้งได้เห็นอารามยามค่ำคืน ก็จะทำให้ขบคิดได้ว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าที่พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ ก็ยังสละทรัพย์สมบัติ ดังนั้นทุกคนจึงควรปล่อยวางจากทรัพย์สินนอกกาย จากตรงนี้จึงอยากให้ผู้สูงอายุย้อนกลับไปมองว่า ทุกวันนี้เรายังมีบ้านอยู่ มีอาหารรับประทานไม่ได้ขาดแคลนหรือไม่ ดังนั้นการที่ถูกโกงทรัพย์สินไป ทั้งจากลูกหลานและคนใกล้ชิด หรือถูกหลอกลวงจากโลกออนไลน์ให้ทำธุรกิจต่างๆ กระทั่งถูกฉ้อโกงเสียเงินจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ ธรรมะที่เกิดขึ้นจากการเข้าวัดปฏิบัติธรรมจะช่วยทำให้ท่านไม่คิดสั้นอีกต่อไป หรือปล่อยวางมากขึ้น

เนื่องจากทุกวันนี้มีสื่อที่รบเร้าให้คนทำอะไรได้อย่างง่ายๆ เป็นต้นว่า เด็กสามารถดูการก่ออาชญากรรมผ่านทางยูทูบได้ ตลอดจนการอาศัยสื่อออนไลน์และความทันสมัยก่อการทุจริตคดโกงผู้อื่น กระทั่งนำมาสู่การแก้แค้นโดยการเอาชีวิตผู้อื่น และตามด้วยการปลิดชีพตัวเอง

ดังนั้นวิธี “เติมสติ” ให้คนหนุ่มสาว รวมถึงผู้สูงอายุ รับมือกับปัญหาการคิดสั้นฆ่าตัวตาย หลวงพ่อขอเสนอไอเดีย ให้แต่ละวัดมี “ธรรมสถาน” เพราะการที่เราเปลี่ยนวัดจำนวนกว่า 300 แห่งใน กทม.ให้มีคุณภาพ มีสถานที่สำหรับทำสมาธิภาวนา โดยเปิดหลักสูตร 2, 3, 7 วัน มีห้องน้ำ และศาลานอนแยกหญิงชาย, มีชั่วโมงของการฟังเทศน์สอนใจดีๆ รวมถึงมีห้องโถงทำกิจกรรม เช่น การสอนดนตรีบำบัด, โยคะบำบัด, ศิลปะบำบัด โดยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วงหลังเกษียณมาเป็นวิทยากรหรือผู้สอน คนในวัยเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดสังคม อีกทั้งทำให้คนหลัก 5 หลัก 6 ไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า เมื่อต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ก็เป็นการลดความว้าเหว่ในใจได้ ที่สำคัญผู้มาปฏิบัติธรรมต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย ตรงนี้หากภาครัฐลงทุนสร้างธรรมสถานดังกล่าวให้กับวัด ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่ดึงผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่มีปัญหาชีวิตเข้าวัด โดยมีจุดประสงค์ของการสร้างความผ่อนคลาย โดยใช้หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวจับ ซึ่งมันจะช่วยลดการฆ่าตัวตาย ในกลุ่มของคนสูงอายุและคนทั่วไปได้

(การคิดและคาดหวังให้น้อยจะช่วยลดแรงปะทะจากการไม่สมหวังให้น้อยลงเช่นกัน)

สิ่งที่ป้องกันการคิดปลิดชีพตัวเองอย่างการ “คิดหรือคาดหวังในเรื่องต่างๆ ให้น้อยลง” ก็น่าจะเป็นหนทางป้องกันความไม่สมหวังและลดการสูญเสียได้ หลวงพ่อยกตัวอย่าง ผู้สูงอายุที่เขาอยู่ในต่างจังหวัด เขาจะมีความคาดหวังในเรื่องต่างๆ น้อยลง เมื่อนั้นแรงปะทะจากความไม่สมหวังก็จะน้อยเช่นกัน ที่สำคัญการที่คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ความไม่สมหวัง และมีความทุกข์เป็นอาจิณอยู่แล้ว เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เขาก็จะสามารถรับมือกับเรื่องร้ายได้ พูดง่ายๆ ว่าเขาจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในเมืองกรุง ที่มักจะไม่สามารถทนกับการถูกบีบคั้นต่างๆ ได้ หรือไม่สามารถอดทนรอได้ แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย จึงทำให้คนชรามีสุขภาพจิตที่เปราะบางกว่า

นอกจากใช้ธรรมะเป็นตัวช่วยลดการคิดสั้นแล้ว การป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการที่พ่อแม่ในเมืองกรุงสอนลูกหลานให้รู้จัก 3 สิ่งต่อไปนี้ คือ “รู้จักหิวเป็น” และต้อง “รู้จักลำบากเป็น” สุดท้ายคือ “การอยู่ท่ามกลางความยากลำบากและความขาดแคลนให้ได้”

“ทั้ง 3 เรื่องที่หลวงพ่อบอกมาจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และพบกับเรื่องที่ไม่สมปรารถนา เมื่อนั้นเขาก็จะไม่ประทุษร้ายตัวเองและผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณท่ามกลางสติและมีความสุข กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง”.

27 April 2561

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By STY_Lib

Views, 1364

 

Preset Colors