02 149 5555 ถึง 60

 

หนุ่มเผยป่วยคลั่งผอม โรคฮิตวัยรุ่น หงุดหงิด-หน้ามืด แพทย์ชี้ลดน้ำหนักผิดวิธีเสี่ยงถึงตาย

หนุ่มเผยป่วยคลั่งผอม โรคฮิตวัยรุ่น หงุดหงิด-หน้ามืด แพทย์ชี้ลดน้ำหนักผิดวิธีเสี่ยงถึงตาย

การคลั่งผอมในหมู่วัยรุ่นปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะการโฆษณาชวนเชื่อที่ว่าต้องขาวและหุ่นดีเท่านั้นถึงจะทำให้มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดี ทำให้เกิดทัศนคติที่ผิดๆต่อรูปร่างที่เห็นน้ำหนักเป็นศัตรู กลัวอ้วนจนเกิดการวิตกกังวล ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตป่วย นำไปสู่การเกิดโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa)

นายรัชชานนท์ ชมศิริ ผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia nervosa) หรือโรคคลั่งผอม ให้สัมภาษณ์ข่าวสดออนไลน์ ถึงอาการคลั่งผอม โดยใช้หลากหลายวิธีเพื่อทำให้น้ำหนักลดลงให้เร็วที่สุด ทั้งกินยาลดน้ำหนัก และหนักสุดคือล้วงคอให้อ้วกหลังจากกินอาหารเสร็จ

รัชชานนท์ เริ่มเล่าว่า อดีตตนมีน้ำหนัก 103 กิโลกรัม โดนเพื่อนล้อตลอด จึงพยายามลดน้ำหนักเพราะอยากหุ่นดี เวลาส่องกระจกมักรู้สึกว่าตนเองอ้วนใครจะบอกว่าผอมก็ไม่สนใจ เพราะคิดว่าตนเองอ้วนตลอดเวลา ส่งผลให้มีความกังวลและขาดความมั่นใจ ส่วนเรื่องการรับประทานอาหารนั้นตนจะเน้นทานผัก และทานข้าวแค่วันละ 1 มื้อ จนทำให้บางครั้งรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หน้ามืด

“เวลากินเยอะจะเกิดการรู้สึกผิดที่กินลงไป และหาวิธีนำอาหารออก โดยล้วงคอเพื่อให้สิ่งที่กินเข้าไปอาเจียนออกมา เมื่อได้ล้วงคออาเจียนออกก็จะรู้สึกดีและมีความมั่นใจขึ้น” นายรัชชานนท์ กล่าว

ผู้ป่วยโรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา เล่าต่อว่า เคยทานยาลดความอ้วนของหมอที่คลินิก มีวัดคลื่นหัวใจ อัตราการเต้นหัวใจ และตรวจไขมันจึงจะสามารถจ่ายยาได้ ทานแล้วเห็นผลดีน้ำหนักลดแต่รู้สึกเหนื่อย พอหยุดทานหมอจะให้ยาหยุดมาทาน แต่ก็กลับมาอ้วนเช่นเดิม ยอมรับเคยศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคคลั่งผอม และพบว่าโรคนี้อันตรายร้ายแรงถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้ ตนจึงพยายามปรับวิธีคิดและปรับการทานอาหารใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม

“อยากให้คนที่คลั่งความผอมโดยใช้วิธีแบบผิดๆ โดยการล้วงคออ้วก กินยาถ่าย ทานยาลดน้ำหนัก ออกกำลังหนัก ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดเกลือแร่ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้หันมาใช้วิธีที่ถูกต้องโดยการปรึกษาหมอหรือจิตแพทย์ เพื่อจะได้ชี้นำวิธีการลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรักษาด้านจิตใจที่มีอคติ มองว่าน้ำหนักคือศัตรู จะได้มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดีมีความมั่นใจ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป” นายรัชชานนท์ กล่าวเตือนวัยรุ่นที่คลั่งผอม

ด้าน พญ.วนาพร วัฒนกูล แพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า โรคคลั่งผอมเกิดจากสุขภาวะทางจิต ที่มีความต้องการอยากอาหารแต่กลัวอ้วน โรคคลั่งผอมมี 2 ประเภท 1.อะนอเร็กเซีย ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทาน คือการอดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลด และไม่รู้สึกต่อความหิว 2.บูลิเมีย คืออยากกินอาหารในปริมาณมาก แล้วจึงกินยาถ่ายหรือล้วงคอให้อาเจียนเพราะกลัวอ้วน และมีผลร้ายต่อร่างกาย เพราะการอ้วกมากๆ ทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ผิดสมดุล เกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการไตวายเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การรักษาต้องเริ่มจากการเข้าใจตนเอง โดนคนรอบข้างต้องเข้าใจและให้กำลังใจเป็นการรักษาแบบองค์รวม และรักษาร่วมกับจิตแพทย์ร่วมกับหมอรักษาทางกายด้วย

“สมัยนี้ใครๆ ก็อยากสวยเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเกินเส้นความพอดีจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของสื่อที่โฆษณา ที่โปรโมทความสวยงามจนเกินไป ทำให้เกิดความคลั่งไคล้ทำให้อยากผอม อยากขาว เหมือนดารา นางแบบ จนลืมรักษาและดูแลสุขภาพร่างกายอย่างถูกวิธี” พญ.วนาพร กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุวนีย์ ชมชัยรัตน์ นักโภชนาการ ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า โรคคลั่งผอมเกิดจากสุขภาวะทางจิตที่ผิดปกติ มักพบกลุ่มอาชีพนางแบบ ใช่เรือนร่างในการทำงาน ต้องรักษาหุ่นให้ดีตลอดเวลา บางครั้งถึงขั้นใช้วิธีที่ผิด การลดน้ำหนักแบบถูกวิธี คือ ต้องทาอาหารให้ครบ 3 มื้อ โดยไม่ต้องงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่ควบคุมพลังงานอาหารที่ทานเข้าไปแทน เช่น ลดไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรตลง หักมาทานผัก ผลไม้ มากขึ้น และควบคู่กับการออกกำลังกายจะเห็นผล การที่พึ่งยาลดน้ำหนัก ออกกำลังกายแบบหักโหม อดอาหาร จะเห็นผลในระยะสั้นและทำให้การเผาผลาญในร่างกายเราผิดปกติ และเกิดการ “โยโย่ เอฟเฟค” กลับมาอ้วนเช่นเดิม

1 May 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 4833

 

Preset Colors