02 149 5555 ถึง 60

 

ห่วงชิงโชคเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย ทำคนไทยรับน้ำตาลเพิ่ม

ห่วงชิงโชคเครื่องดื่มสูตรหวานน้อย ทำคนไทยรับน้ำตาลเพิ่ม

11 พฤษภาคม 2561 808

"กรมอนามัย" ชี้เครื่องดื่มสูตรหวานน้อย น้ำตาลยังสูงถึง 10-12 ช้อนชา เกินปริมาณที่ควรรับต่อวัน ห่วงมาตรการชิงโชคทำคนไทยดื่มมากขึ้นยิ่งได้รับน้ำตาลมาก

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือฮู แนะนำว่า ไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยได้รับน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 26 ช้อนชาต่อวัน เกินกว่าที่แนะนำถึง 4 เท่า โดยพบว่า 2 ใน 3 ของการรับน้ำตาลมาจากเครื่องดื่ม ประเภทน้ำหวานต่างๆ อย่างเช่น เครื่องดื่มประเภทชาเขียว ถือว่ามีน้ำตาลมาก ขวดมาตรฐานขนาด 500 มิลลิลิตร พบว่า บางยี่ห้อใส่น้ำตาล 20% บางยี่ห้อใส่ถึง 26% หากคิดจากปริมาณน้ำตาล 20% ของขวด 500 มิลลิลิตร เท่ากับมีน้ำตาลประมาณ 100 กรัม หรือ 20 ช้อนชา เกินกว่าที่แนะนำต่อวันเป็นอย่างมาก

“แม้จะมีการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับสูตรน้ำตาลลดลง แต่ก็พบว่ายังเกินกว่า 10% ทั้งสิ้น เช่น เครื่องดื่มสูตรน้ำตาล 10% ,15 % เพราะคนไทยยังติดความหวาน ซึ่งน้ำตาล 10% จากปริมาณ 500 มิลลิลิตร ก็ยังถือว่าปริมาณมากคิดเป็น 50กรัม หรือ 10-12 ช้อนชา ซึ่งการบริโภคเครื่องดื่มที่แนะนำ คือ 200-250 มิลลิลิตรนับเป็น 1 หน่วยบริโภค หากใส่น้ำตาล 10% ก็จะได้รับน้ำตาลประมาณ 5 ช้อนชา จึงแนะนำว่าเครื่องดื่มพวกนี้ไม่ควรมีน้ำตาลเกิน 6% ซึ่งจะได้รับน้ำตาลประมาณ 12 กรัม หรือ 3 ช้อนชา บริโภคได้ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภคต่อวัน ที่น่าดีใจคือ หลายรายก็มีการออกสูตรไม่เติมน้ำตาลมาขายด้วย แต่จะขายดีหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่คนรักสุขภาพน่าจะซื้อสูตรไม่ใส่น้ำตาลมากขึ้น” ทพญ.ปิยะดากล่าว

สำหรับการส่งเสริมการตลาดน้ำอัดลม และเครื่องดื่มชาเขียวด้วยการชิงโชค ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ถือเป็นการกระตุ้นให้คนอยากชิงโชคมากขึ้น มีการซื้อมากขึ้น และตามธรรมชาติของคนแล้ว เมื่อซื้อของพวกนี้มามาก ก็คงไม่มีใครเททิ้ง ก็ต้องดื่มมากยิ่งขึ้น เป้าหมายในการลดการกินหวานของคนไทยจึงเป็นไปได้ยากขึ้น แม้จะทำสูตรน้ำตาลน้อย แต่เมื่อกระตุ้นให้กินมากขึ้นก็ได้รับน้ำตาลเกินอยู่ดี ต่อให้ทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสูตรน้ำตาล 6% แต่บริโภค 1 ขวดขนาด 500 มิลลิลิตร ก็เท่ากับ 2 หน่วยบริโภคเต็มจำนวนน้ำตาลที่ควรได้รับต่อวันแล้ว และการกระตุ้นให้ชิงโชคก็เท่ากับต้องซื้อดื่มมากยิ่งขึ้น ก็จะได้รับน้ำตาลเกิน ที่สำคัญเมื่อเป็นสูตรน้ำตาลน้อย รสชาติหวานน้อยลง คนก็จะรู้สึกว่าดีต่อสุขภาพมากขึ้น ก็จะกินเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ประกอบการเองเสียภาษีน้อย แต่ได้กำไรจากการขายเพิ่มขึ้น

อนึ่ง การเก็บภาษีความหวาน ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2560 แต่ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปีจนถึง 1 ตุลาคม 2562 เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในสินค้า โดยอัตราภาษีที่เสนอเก็บตามค่าความหวานยิ่งหวานน้อยจะเสียภาษีน้อย แบ่งเป็น 6 ระดับ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี 2.ค่าความหวาน 6-8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร 3.ค่าความหวาน 8-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร 4.ค่าความหวาน 10-14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร 5.ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และ 6.ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร และหลังพ้นเวลาผ่อนผันไปแล้วอีก 2 ปี หากค่าความหวานไม่ลดลง จะมีการปรับขึ้นภาษีแบบขั้นบันได

11 May 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By STY_Lib

Views, 1123

 

Preset Colors