02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิตพัฒนายา แคลเซียมสมุนไพร ใช้รักษาคนติดเหล้า

กรมสุขภาพจิตพัฒนายา 'แคลเซียมสมุนไพร' ใช้รักษาคนติดเหล้า

20 พฤษภาคม 2561 770

รพ.สวนปรุง กรมสุขภาพจิต ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนายา "แคลแอคทีฟพลัส" แคลเซียมสมุนไพร ตำรับพิเศษ ใช้รักษาผู้ป่วยติดเหล้าที่มีปัญหาแคลเซียมในเลือดต่ำ

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เร่งเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาฟื้นฟูผู้ที่ติดเหล้าเรื้อรังเพื่อป้องกันการป่วยทางจิต เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเข้าไปกดการทำงานของสมอง ทำให้สมองเสียสมดุล ทำงานผิดปกติ ผลสำรวจล่าสุดของกรมสุขภาพจิตในปี 2556 พบประชาชน อายุ 18 ปีขึ้นไป ติดเหล้า (Alcohol dependence )ร้อยละ 1.8 คาดทั่วประเทศมีประมาณ 900,000 คน โดยอยู่ในภาคเหนือมากที่สุด ร้อยละ 3.5 รองลงมาคือ กทม. ร้อยละ 2.9 ในปีนี้กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ติดเหล้าจากเดิมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2556 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยได้รับการรักษาสะสมรวม172,937 คน โดยมีโรงพยาบาล(รพ.)สวนปรุง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคติดสุราระดับชาติของกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยและพัฒนามาตรฐานแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้ต้องได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งโรคทางกายและทางจิตใจ เนื่องจากอวัยวะภายในถูกแอลกอฮอล์ทำลาย จนการทำงานสูญเสียหน้าที่ เช่น ตับแข็ง เลือดออกง่ายหยุดยาก แผลในกระเพาะอาหาร กระดูกพรุน ไปจนถึงมีอาการทางสมอง เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขยายผลใช้ในโรงพยาบาลเครือข่าย โรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาฟื้นฟูไม่มีปัญหาแทรกซ้อนตามมาภายหลัง

ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการ รพ.สวนปรุง กล่าวว่า ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดเหล้าให้เลิกดื่ม จะต้องรักษาปัญหาทางกายและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับสู่ภาวะปกติเสียก่อน ปัญหาทางกายที่พบได้บ่อย คือ เลือดออกจากแผลในกระเพาะลำไส้ ภาวะขาดสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินบีและวิตามินเค รวมถึงแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด ผลวิจัยของรพ.สวนปรุง พบผู้ป่วยขาดแคลเซียมร้อยละ 52 หรือพบได้ 1 ใน 2 คน ขาดโปแตสเซียม ร้อยละ38 และขาดแมกนีเซียมร้อยละ 24 ซึ่งแคลเซียมเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายรวมถึงกระบวนการแข็งตัวของเลือด รพ.ฯ จึงได้พัฒนาตำรับแคลเซียมสมุนไพร 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดสุราที่มีปัญหานี้เฉพาะ โดยใช้เปลือกไข่ไก่ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งหาได้ง่ายแต่มีแคลเซียมสูง และใช้ถั่วเน่าพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งมีวิตามินเค 2 ชนิดเอ็มเค 7 มาก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติแล้ว ยังสามารถพาแคลเซียมจากกระแสเลือดเข้าไปสู่กระดูกเพื่อสร้างเนื้อกระดูกได้ดี ป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้ติดสุรา และลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากแคลเซียมเกาะตามผนังหลอดเลือดหรืออวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ สมองเสื่อม เป็นต้น แคลเซียมสมุนไพรนี้จึงเหมาะสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยติดเหล้าที่มีแคลเซียมต่ำ ซึ่งยาแคลเซียมที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด ยังไม่มีสูตรผสมเช่นนี้

จากการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของยาแคลเซียมสมุนไพรเปรียบเทียบกับยาแคลเซียมที่จำหน่ายในท้องตลาด เมื่อให้ผู้ป่วยของรพ.สวนปรุงรับประทานในปริมาณแคลเซียมเท่ากัน พบว่าแคลเซียมสมุนไพรดูดซึมได้ดี ให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงกว่าเล็กน้อย มีความปลอดภัย ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ ปัจจุบัน รพ.ฯได้ผลิตขายให้กับผู้ป่วยในรูปแคปซูล ใน 1 แคปซูลจะมีธาตุแคลเซียม 150 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับแคลเซียมคาร์บอเนต 375 มิลลิกรัม โดยใช้ชื่อว่า แคลแอคทีฟพลัส (CalActive Plus ) บรรจุขวดละ 60แคปซูล ขายขวดละ 150 บาท รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือประมาณ 3 ขวดต่อเดือน ขึ้นอยู่กับภาวะความจำเป็นของผู้ป่วย

นายแพทย์ธรณินทร์ กล่าวต่อว่า กระบวนการผลิตยาแคลเซียมสมุนไพรของรพ.สวนปรุง เป็นไปตามมาตรฐานจีเอ็มพี มีการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยด้านการปนเปื้อนจากเชื้อและโลหะหนัก และคุณสมบัติของตัวยาทั้งการแตกตัว การละลาย และความคงตัวของตำรับยา ขณะนี้ได้รับรหัสยามาตรฐานไทยหรือทีเอ็มที (Thai Medicines Terminology :TMT) จากศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทยแล้ว และ สปสช. อนุญาตให้อยู่ในบัญชียาที่สามารถเข้าระบบเบิกจ่ายได้แล้ว แต่ยังจำกัดให้ใช้เฉพาะกับผู้ป่วยของ รพ.สวนปรุง อยู่ระหว่างยื่นขอรหัสทีเอ็มที เพื่อให้สามารถใช้ยานี้ใน รพ.อื่นทั่วประเทศได้ด้วย คาดว่าน่าจะได้ภายในเดือนหน้านี้ ซึ่งยาแคลเซียมแคลแอคทีฟพลัสนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยทั่วไปที่มีปัญหาขาดแคลเซียมได้ด้วย

ทั้งนี้รพ.สวนปรุง ได้วางแผนในห่วงโซ่การผลิตยาแคลเซียมจากเปลือกไข่ไก่และถั่วเน่า โดยจะส่งเสริมให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาและมีอาการดีแล้ว เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้น เช่น ปลูกถั่วเหลืองเพื่อทำเป็นถั่วเน่าแห้ง และนำเปลือกไข่ที่ล้างสะอาดแล้ว ส่งขายให้ รพ.สวนปรุง เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ป่วยซึ่งมักจะขาดโอกาสด้านอาชีพ และสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วยที่มีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาผู้ป่วยด้วยกัน โดยผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ รพ.สวนปรุง หมายเลข 053-908 500 ต่อ 60551 ในวันเวลาราชการ

21 May 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By STY_Lib

Views, 932

 

Preset Colors