02 149 5555 ถึง 60

 

นักโภชนาการห่วง “อาหารกลางวัน” ห่วย กระทบพัฒนาการเด็ก ผอม-อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ

นักโภชนาการห่วง “อาหารกลางวัน” ห่วย กระทบพัฒนาการเด็ก ผอม-อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ

นักโภชนาการ ชี้ คุณภาพ “อาหารกลางวัน” แย่ ส่งผลพัฒนาการเด็ก ทั้งผอมขาดสารอาหาร ได้รับพลังงานเกินจนอ้วน

วันนี้ (8 มิ.ย.) พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงคุณภาพอาหารกลางวันและโภชนาการเด็กวัยเรียน ว่า จากการสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนอายุ 6 - 14 ปี พบว่า มีทั้งภาวะขาดและเกิน โดยในส่วนที่ขาดหรือผอมเกิน จะมีทั้งผอมชนิดขาดอาหารแบบฉับพลัน และผอมจากขาดอาหารเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะกระทบกับความสูงของเด็ก ทำให้กลายเป็นเตี้ย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ถือว่าดีขึ้น แต่ยังพบอยู่ ส่วนมากพบในเด็กชนบทมากกว่าเด็กเมือง ขณะที่ปัญหาน้ำหนักเกินหรือภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนพบว่า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2546 พบร้อยละ 5 ปี 2551 พบร้อยละ 9.7 และล่าสุดที่สำรวจ คือ ปี 2557 พบร้อยละ 13.9 มักพบในเด็กเมืองมากกว่า

พญ.นภาพรรณ กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจคุณภาพอาหารกลางวันเด็กพบว่า มีการจัดหาเมนูแบบขนมจีนน้ำปลาส่วนหนึ่ง แต่ภาพรวมถือว่าดีขึ้น แต่เป็นลักษณะเมนูที่ให้แต่พลังงาน ส่วนสารอาหารอื่นมีไม่ครบ มักจะขาด 1. ธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ได้จากตับและเลือดสัตว์ ส่วนหนึ่งครูให้เหตุผลว่าเด็กไม่ชอบกินเพราะขม 2. ขาดโฟเลต ซึ่งได้จากผัก ผลไม้ 3. ขาดวิตามินเอ ที่ได้จากตับ และ 4. แคลเซียม ที่ได้จากนม ซึ่งทางโรงเรียนมีนมโรงเรียนให้อยู่แล้ววันละ 1 กล่อง แต่ผู้ปกครองต้องให้กินเพิ่มเมื่ออยู่บ้านด้วย ทั้งนี้ เมนูอาหารกลางวันที่แนะนำ คือ มีผักทุกมื้อ มีไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ฟอง มีตับหรือเลือดสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ผลไม้สัปดาห์ละ 3 วัน ที่เหลือเป็นขนมหวานน้อย เช่น ถั่วเขียวต้ม ไม่ใช่ให้กินพวกขนมปัง คัสตาร์ด เป็นต้น เพราะทำให้เด็กอ้วน

“ที่เจอคือครูเข้าใจผิดมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องกรรมพันธุ์ แต่ที่จริงไม่ใช่ ถ้าได้รับอาหารดี เพียงพอก็ทำให้ร่างกายสูงใหญ่ได้ ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันว่า ความสูงมีความสัมพันธ์กับไอคิวหรือความฉลาดทางสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าสูงก็ไอคิวดี ส่วนความอ้วนนั้นไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนเรื่องไอคิวแต่เด็กที่อ้วนพบว่าจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่สนิทตอนกลางคืน แล้วมาง่วงหลับตอนกลางวัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียนตามมา เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ รวมถึงดูแลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอด้วย” พญ.นภาพรรณ กล่าว

11 June 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 1079

 

Preset Colors