02 149 5555 ถึง 60

 

เพิ่มทักษะสังคม "ลูกสมาธิสั้น" ด้วยประชาธิปไตย ห้ามปล่อยปละละเลย

เพิ่มทักษะสังคม "ลูกสมาธิสั้น" ด้วยประชาธิปไตย ห้ามปล่อยปละละเลย

สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ภาคใต้ วิจัยพบ เลี้ยง "ลูกสมาธิ" แบบประชาธิปไตย ส่งเสริมเด็กคิดอิสระ แก้ปัญหาด้วยตนเอง แนะสิ่งที่ถูกและผิด ช่วยเพิ่มทักษะสังคม ความเชื่อมั่นในตนเอง ชี้เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ทำคุมตัวเองไม่ได้ นำไปสู่ปัญหาร่วมอื่นที่รุนแรงขึ้น

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น หรือไฮเปอร์มีลักษณะเฉพาะ 3 ด้านคือ ขาดสมาธิ ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียน การเข้าสังคมอยู่ร่วมกับคนอื่น หากจัดการปัญหาไม่ถูกวิธีจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้น ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตปี 2555 พบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 มีอัตราป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 8.1 หรือประมาณ 470,000 คนทั่วประเทศ การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาเรื่องการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่รักษายากซับซ้อนกว่า โดยทักษะสังคมที่จะต้องสร้างให้เด็กสมาธิสั้นเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีความสุข มี 7 ด้าน ได้แก่ ความเชื่อมั่นตนเอง การควบคุมตัวเอง การจัดการปัญหาที่ถูกต้อง การเรียนรู้สิ่งใหม่ การสื่อสารกับคนอื่น การสร้างสัมพันธภาพคนอื่น และการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งทักษะสังคมเหล่านี้ได้มาจากการฝึก การปลูกฝังและรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ จากผลการวิจัยของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ในกลุ่มเด็กอายุ 6-12 ปี ที่เข้ารักษาในปี 2559-2560 จำนวน 221 คน พบว่า รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กสมาธิสั้นที่สัมพันธ์กับทักษะสังคมในด้านความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กที่สุดคือการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย

พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้พบว่า ครอบครัวของเด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 56.4 จะเลี้ยงแบบประชาธิปไตย คือการเลี้ยงด้วยความรัก ให้ความอบอุ่น ส่งเสริมให้เด็กมีอิสระทางความคิด ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง โดยพ่อแม่คอยให้เหตุผลส่งเสริมทำให้สิ่งที่ถูกต้อง ห้ามทำในสิ่งที่ผิด ผลการวิจัยพบว่าเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่สัมพันธ์กับความเชื่อมั่นตัวเองของเด็ก ซึ่งส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ดังนั้น จึงเชื่อว่าหากครอบครัวเลี้ยงดูเด็กสมาธิสั้นแบบประชาธิปไตย จะเอื้อต่อประสิทธิภาพของการดูแลรักษาได้ผลดีมากขึ้น

พญ.ทหัยชนนี กล่าวว่า ส่วนการเลี้ยงดูอีก 3 รูปแบบที่พบในการศึกษาครั้งนี้คือ การเลี้ยงดูแบบรักตามใจ เด็กทำตามสิ่งที่อยากทำไม่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์พบร้อยละ 5.7 การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจควบคุม พ่อแม่กำหนดกฎเกณฑ์ ออกคำสั่งให้ทำตาม หากไม่ทำตามก็จะลงโทษพบร้อยละ 30.8 และการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยไม่สนใจความเป็นอยู่ของลูก เด็กขาดความใส่ใจ ไม่ได้รับความช่วยเหลือพบร้อยละ 7.1 ซึ่งการเลี้ยงดูที่มีความสัมพันธ์ในแง่ลบกับทักษะสังคมของเด็กสมาธิสั้นมากที่สุดคือ การเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะเด็กขาดคำแนะนำที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาหรือการแก้ไขความขัดแย้ง อีกทั้งยังขาดแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตในสังคมจากผู้ที่ใกล้ชิดและสำคัญกับเด็กที่สุดคือ ครอบครัว ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่มีปัญหาสมาธิสั้นบกพร่องเพียงอย่างเดียว ที่เหลืออีกร้อยละ 69 จะมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาบกพร่องด้านการเรียนรู้ การประสานของกล้ามเนื้อที่ไม่ดี ดื้อต่อต้าน เป็นต้น ดังนั้น หากเด็กสมาธิสั้นขาดทักษะที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับสังคมด้วย อาจทำให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงขึ้น และเกิดความเครียดในครอบครัวเพิ่มขึ้น

25 June 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By sty_lib

Views, 658

 

Preset Colors