02 149 5555 ถึง 60

 

ครอบครัวทีมหมูป่า เครียดกังวลสูง มี4คนต้องส่งรักษารพ.

ครอบครัวทีมหมูป่า เครียดกังวลสูง มี4คนต้องส่งรักษารพ.

30 มิถุนายน 2561 2,786

กรมสุขภาพจิต เผยครอบครัวทีมหมูป่า เครียดกังวลสูง มี4คน ต้องส่งรักษาในรพ. ห่วงจนท. -อาสาสมัคร-กู้ภัยเครียดสะสมจากค้นหาในและนอกถ้ำ

กรมสุขภาพจิต เผยผลปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ดูแลจิตใจครอบครัวของทีมบอลหมูป่า 13 ชีวิตที่ยังติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่ 25-29 มิถุนายน 2561 พบมี 4 คน เกิดอาการเครียดวิตกกังวลสูง ร้องไห้ ต้องส่งตัวรักษาในโรงพยาบาล และพบเป็นลมเนื่องจากอดนอน ขณะนี้ทุกคนอาการดีขึ้นแล้ว ยังคงจัดทีมดูแลในพื้นที่ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมห่วงทีมเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร กู้ภัย เครียดสะสมจากการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา แนะให้ใช้ 7 วิธีดูแลจิตใจตัวเอง ยึดพลังเสริมแรงใจ ตั้งสติ จะช่วยให้การทำงานดีขึ้น

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจของครอบครัวและญาติที่เฝ้ารอทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ชรวม 13 คน ที่พลัดหลงและยังติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมาว่า ผลการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทจากกรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย ซึ่งดูแลจิตใจครอบครัวของทีมฟุตบอลซึ่งมีจำนวน 40 คน ตั้งแต่วันที่ 25- 29 มิถุนายน 2561 พบว่ามีภาวะเครียด วิตกกังวลอยู่ในระดับสูง ในจำนวนนี้มี 4 คน มีอาการเครียดรุนแรงและร้องไห้ ได้นำส่งเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และยังพบมีอาการเป็นลม เนื่องจากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หายใจไม่อิ่ม อยู่บ้าง ทีมได้ให้การปฐมพยาบาลที่โรงพยาบาลสนาม ขณะนี้ทุกคนอาการดีขึ้นแล้ว โดยได้จัดทีมจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ จำนวน 12-17 คน ดูแลต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มที่เป็นห่วงและอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจได้คือทีมค้นหาทั้งในและนอกถ้ำ และผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือทั้งหมด เช่นอาสาสมัคร มูลนิธิกู้ภัยต่างๆ ทหาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน อาจเกิดความเครียดสะสมมาจากการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คนให้พบได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งยากลำบากและเสี่ยงภัย อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียด อาจมีอารมณ์หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุได้ จึงขอแนะนำให้ดูแลจิตใจตนเองโดยใช้หลักการ "ผนึกกำลัง เสริมแรงใจ ตั้งสติ สร้างความรู้สึกปลอดภัยและความหวัง " จะช่วยคลี่คลายให้การทำงานดีขึ้น มี 7 ประการดังนี้

1. ยึดการทำงานที่ปลอดภัย ทำงานเต็มที่ภายใต้ขีดความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสับเปลี่ยนกำลัง เพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ 2.ให้พักยกหรืออยู่กับความสงบบ้าง ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบทุกมื้อ เพื่อช่วยให้ร่างกายและจิตใจสมบูรณ์มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน หากไม่มีเวลาให้ใช้วิธีการหลับตาชั่วครู่ และหายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อผ่อนคลาย หรือฟังเพลงสักครู่ 3. หลังจากเสร็จสิ้นการทำงาน ให้นึกทบทวนการทำงาน เพื่อให้รู้สึกว่ามีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น 4. แบ่งปันประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นกับผู้อื่นเช่น เพื่อน ครอบครัว ผู้ร่วมงาน 5. รักษาสัมพันธภาพที่ดีของทีม สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดูแลและเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่น คำขอบคุณ การให้กำลังใจกันและกัน จะช่วยคลี่คลายอารมณ์หงุดหงิดได้มาก 6.มีความหวังที่เหมาะสม เผื่อใจไว้สำหรับผลลัพธ์ทั้งบวกและลบ ในการได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ 7. เฝ้าสังเกตสภาพร่างกายและจิตใจของตนเองเป็นระยะ หากสงสัยหรือรู้สึกไม่ปกติในร่างกาย ให้รีบปรึกษาทีมสุขภาพภาคสนาม หรือหากรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหว ขอให้นั่งพักหรือคุยกับหัวหน้าทีมหรือผู้บังคับบัญชา เพื่อขอความช่วยเหลือและหากยังมีอาการนอนไม่หลับเครียดหงุดหงิดมากเกือบตลอดทั้งวัน ขอให้ปรึกษาที่หน่วยสุขภาพจิต เอ็มแคท ซึ่งตั้งอยู่ข้างหน่วยแพทย์สนาม ที่บริเวณทางเข้าถ้ำ

2 July 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By STY_Lib

Views, 534

 

Preset Colors