02 149 5555 ถึง 60

 

โรคเตียงดูด ไม่ได้ขี้เกียจ! สัญญาณเตือนป่วยทางจิต?

โรคเตียงดูด ไม่ได้ขี้เกียจ! สัญญาณเตือนป่วยทางจิต?

สัปดาห์นี้ใครที่คิดถึง “เตียงนอน” บ่อยๆ จนนึกว่าตัวเองถูกเตียงดูดหรือเปล่า?? จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่อาการขี้เกียจ แต่เป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายหลายโรค มีอะไรบ้างไปติดตามกัน

เช้าแล้วยังอยู่บนที่นอน...เงียบๆ คนเดียวและไม่อยากตื่นขึ้นพบใคร...เพลงนี้ช่างเข้ากับบรรยากาศช่วงนี้เสียจริงๆ เพราะหลายคนนอนน้อย อ่อนเพลียจากการเชียร์ “ฟุตบอลโลก 2018” ทำให้ไม่อยากลุกขึ้นจากเตียง แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการนี้เราเรียกกันอีกอย่างว่า “โรคเตียงดูด” เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายประการเลย!!

ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า “อาการเตียงดูด” หรือ “clinomania” มีการแชร์กันมากในช่วงนี้ ซึ่งใช้เรียกผู้ที่ติดเตียงนอน ไม่อยากลุกจากเตียงเพื่อทำสิ่งต่างๆ ตื่นนอนตอนเช้าได้ยากลำบาก ขอต่อเวลาการนอนเรื่อยๆ ไม่ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ดูเหมือนคนขี้เกียจ นอนได้ทั้งวัน แม้คำนี้จะไม่ได้มีนิยามทางการแพทย์อย่างชัดเจน แต่อาจเป็นอาการของโรคทางกาย จิตใจ หรือปัญหาการนอนต่างๆ ได้

ลักษณะที่ได้กล่าวมานั้นอาจแยกได้ยากกับการไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย ซึ่งผู้ที่เพลียไม่มีแรงหรือขาดแรงจูงใจอาจพบได้ในผู้ที่เป็นโรคทางกาย เช่น โรคซีด (anemia) โรคธาลัสซีเมีย ภูมิแพ้ โรคปอดและหัวใจ ขาดสารอาหาร ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งมักเป็นทั้งวัน ร่วมกับมีอาการและความผิดปกติอื่นๆ ที่เข้าได้กับสาเหตุ

นอกจากนี้ผู้ที่ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจแสดงลักษณะคล้ายผู้ที่ติดเตียงเช่นกัน โดยอาจพบในผู้มี “ปัญหาทางจิตใจ” เช่น มีภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล นอกจากนี้ผู้มีภาวะดังกล่าวอาจรู้สึกอ่อนเพลียร่วมด้วย ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งกิจกรรมที่ชอบมากๆ ก็ไม่สนใจอยากทำเหมือนเดิม นอนหลับยาก หลับๆ ตื่นๆ รวมถึงสังเกตอารมณ์ซึมเศร้าต่างๆ ร่วมด้วย

ในผู้ที่เป็น “โรคซึมเศร้า” หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่หากเป็นไม่มากแพทย์อาจจะเริ่มรักษาด้วยการปรับความคิด และพฤติกรรมก่อน แต่ถ้ามีความเครียดมากจนถึงขั้นมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองคงต้องรักษาด้วยการรับประทานยา

“อาการเตียงดูด” นอกจากสาเหตุจากโรคทางกายและโรคทางจิตเวชแล้ว ยังมีสาเหตุจากปัญหาการนอนได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (obstructive sleep apnea) โรคขากระตุกขณะหลับ (periodic limb movement disorder) การนอนมากจากสาเหตุทางระบบประสาท ทำให้ตื่นนอนตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่น หรือผู้ที่นอนไม่หลับเนื่องจากการเปลี่ยนกะทำงาน การเดินทาง ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ทำให้อ่อนเพลียได้เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ

เมื่อเอ่ยถึง “การพักผ่อนไม่เพียงพอ” โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาล “ฟุตบอลโลก 2018” เราอดนอนกันมากขึ้น จึงทำให้มี “อาการเตียงดูด” มากขึ้น ฉะนั้นจึงมีคำแนะนำว่าหากเรารู้ว่าตัวเองพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรปรับเวลาให้พักผ่อนได้มากขึ้น เลี่ยงการดูทุกแมทซ์ และอาศัยดูเทปบันทึกการแข่งขันย้อนหลังแทน

บางครั้งคนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเอง “ขี้เกียจ” จึงทำให้มี “อาการเตียงดูด” แต่ความจริงแล้วถามว่า...เราเป็นโรคขี้เกียจไหม?? บางครั้งอาจเป็นเรื่องของ “การฝึกวินัย” มากกว่า เพราะส่วนมากเรามักจะคิดว่าสาเหตุที่รู้สึกไม่อยากลุกจากเตียง เพราะขี้เกียจจึงเลื่อนเวลาการตื่นนอนไปเรื่อยๆ และคิดว่าไปทำงานหรือไปโรงเรียนสายนิดหน่อยคงไม่เป็นอะไร หรือคิดว่าต่อเวลาอีกหน่อยก็ทัน ทำให้อยากนอนต่ออีกนิดในตอนเช้า

โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องการเวลานอนมากเนื่องจากคนเราอาจต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน อาจลองเข้านอนเร็วขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ต้องนอนอย่างมีคุณภาพด้วย เช่น งดดูทีวีและเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน 1 ชม. เข้านอน-ตื่นให้เป็นเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

อย่างไรก็ตามหากเราปรับอะไรทุกอย่างหมดแล้ว แต่ “อาการเตียงดูด” ยังไม่หาย และมีผลกระทบต่อการเรียน การทำงานในชีวิตประจำวัน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ตื่นยาก อ่อนเพลีย ทำให้ทะเลากับคนรอบข้างบ่อย ๆ แบบนี้คงไม่ดีแน่!! ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดและรับการรักษาที่ถูกต้อง.

12 July 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By sty_lib

Views, 67270

 

Preset Colors