02 149 5555 ถึง 60

 

สังคมไทยชอบแสวงหาแพะ มีคุณธรรมมากยิ่ง"รู้สึกผิด"

สังคมไทยชอบแสวงหาแพะ มีคุณธรรมมากยิ่ง"รู้สึกผิด"

สัปดาห์นี้เรียนรู้ “ความรู้สึกผิด” ในทางจิตวิทยาไม่ใช่จะเกิดกับทุกคน ใครบ้างจะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างไร

วันนี้จะมาพูดถึงเรื่อง ความรู้สึกผิด คือ รู้สึกแย่กับตัวเอง ยอมรับการกระทำของตัวเองไม่ได้ และมองว่าทำบางสิ่งที่ไม่สมควรออกไป ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางจิตใจหรือร่างกาย กับคนอื่นหรือตัวเอง และความรู้สึกนี้ ยังพบบ่อยๆ ได้กับ “ผู้ประสบภัย” จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า...เพราะอะไร?? คนนอกอย่างเรา จึงควรให้ “ทีมหมูป่า” มีเวลาเป็นส่วนตัวกับครอบครัว

หมอมีฟ้า แอดมินเพจ “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” บอกไว้ว่า ควรใช้กำลังใจของเราเป็นแรงหนุน อย่านำความ “อยากรู้อยากเห็น” เป็นตัวขัดขวางการฟื้นฟูสภาพจิตใจตามธรรมชาติ เพื่อให้น้องๆ กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในเร็ววัน

ไม่มีใครอยากเผชิญ “ทีมหมูป่า” คือ ผู้ประสบภัย ที่ต้องเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ ฟื้นฟูสภาพกลับเข้าสู่วิถีชีวิตที่เคยดำเนินมาตามปกติ แต่การถามหา “แพะ”  ตำหนิกล่าวโทษคนผิด ไม่ทำให้เกิดผลดี แต่ยิ่งทำให้ปรากฏการณ์ของความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเสียหาย ทุกคนควรได้เรียนรู้ และเติบโตจากเหตุการณ์ครั้งนี้

เรื่องของความรู้สึกผิด เป็นหนึ่งความรู้สึกที่ทรมานใจอย่างมาก และทำให้หลายคนใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข หลายคน “จมจ่อม” กับความรู้สึกผิด และเฝ้าโทษตัวเองซ้ำๆ ยิ่งหวนนึกถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้น ในทางจิตวิทยาไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้ บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้

1.มีคุณธรรม (moral) คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด ตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรมไม่ว่าทำอะไรไป คนอื่นเดือดร้อนแค่ไหน ไม่มีทางที่จะรู้สึกผิดได้เลย เนื่องการพัฒนาทางจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่รู้สึกผิดบาปละอายใจกับการกระทำผิด ถ้ายิ่งมีคุณธรรมประจำใจมาก ความรู้สึกผิดก็ยิ่งมีมาก

2.มีความรับผิดชอบ (responsibilty) ต่อพฤติกรรมของตัวเอง รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตัวเองต่อส่วนรวม

3.เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องช่วยคนอื่น (altruism) ตามปกติพัฒนาการทางจิตใจวัยเด็กของทุกคน ตั้งแต่แรกเกิดของชีวิต จะมีลักษณะนึกถึงยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางทุกสิ่ง แต่เมื่อโตขึ้นได้รับเลี้ยงดูที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมมากขึ้น ความรู้สึกนึกถึงตัวเองจะลดลง และจะไปพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกถึงคนอื่นมากขึ้น ทำให้อยากเสียสละช่วยคนอื่น

4.เห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) คนที่รับรู้และเข้าใจความทุกข์และเจ็บปวดของผู้อื่น เมื่อเห็นคนลำบากจะกระตุ้นความอยากช่วยเหลือ แต่ความรู้สึกผิด “ไม่ใช่เรื่องไม่ดี” คนที่รู้สึกผิดเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคนจิตใจดี และความรู้สึกผิดทำให้อยากปรับปรุงตัว ทำอะไรที่ดีๆ มากขึ้น ตรงข้ามกับการคนที่ไม่มีความรู้สึกผิด จะมีแต่การแก้ตัว กล่าวโทษคนอื่น ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความวุ่นวาย

แต่ว่า...ความรู้สึกผิดที่มากเกินไป จะกลับมาทำร้ายเราได้ ดังนั้นตรงนี้ “ความเมตตาต่อตัวเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

โดยลักษณะของคนที่มีความรู้สึกผิดมากเกินไป มีดังนี้ 1.บุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มีแนวโน้มเพ่งโทษ เห็นข้อลบ จะคาดโทษตำหนิตัวเองไว้ก่อน 2.ให้อภัยตัวเองได้ยาก ระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากไป จึงไม่ให้อภัยตัวเอง 3.ขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าดีต้องดีทั้งหมด ถ้าผิดไปนิดจะแปลว่าเลวร้ายทั้งหมด มองอะไรเป็นสีเทาๆ ไม่ได้เลย 4.คาดหวังสูง มีบุคลิกภาพแบบคนสมบูรณ์แบบ ถ้าทำผิดแม้น้อยนิดจะยอมรับตัวเองได้ยาก และ 5.ไม่ค่อยเห็นคุณค่าตัวเอง แม้ทำผิดเล็กน้อยจะรู้สึกแย่กับตัวเองมาก มองว่าไม่มีค่า เพราะไม่ค่อยเห็นข้อดีของตัวเอง

ผลจากความรู้สึกผิดที่มีปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดโทษได้อย่างมาก อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข เพราะต้องการลงโทษตัวเอง บางคนมีความสุขก็รู้สึกละอายใจ จึงทำให้ตัวเองรู้สึกทุกข์ใจตกต่ำอยู่ตลอด หรือรุนแรงถึงขั้นพยายาม “ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง” เพื่อชดเชยความผิดนั้น

มีผู้กล่าวไว้ว่า “การที่ให้อภัยตัวเองไม่ได้ คือ การหลงตัวเองชนิดหนึ่ง” ซึ่งเป็นความจริง เพราะเราหลงตัวว่า เราทำผิดอะไรไม่ได้เลย จึงไม่อยากให้อภัยตัวเอง ในความจริงความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ เราเองเป็นคนๆ หนึ่ง เมื่อคนอื่นทำผิดได้เราก็เช่นกัน และฝึกให้อภัยตัวเอง เริ่มต้นใหม่ด้วยชีวิตที่ดี เพราะบทเรียนดีๆ สอนใจเราแล้ว

การดูแลคนใกล้ตัวที่มีความรู้สึกผิด 1.รับฟัง อย่างเข้าใจ 2.ทำความเข้าใจ ว่าความรู้สึกผิดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไร 3.อย่าซ้ำเติม และ 4.ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ความรู้สึกผิดหลายครั้ง ถ้าเรายังคงถือมันไปไหนมาไหนโดยไม่รู้ตัว และมันก็หนักด้วย จะทำให้เราใช้ชีวิตไม่สะดวก ดังนั้นจะถือมันไว้ไปอีกนานแค่ไหนเราต้องเลือก เมื่อวันนี้มีโอกาสมีชีวิตอยู่ ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่าโดยปล่อยวางเรื่องที่ผิดพลาดในอดีต และทำวันนี้ให้ดีที่สุด....

16 July 2561

ที่มา เดลินิวส์

Posted By sty_lib

Views, 9730

 

Preset Colors