02 149 5555 ถึง 60

 

หลังคาแดงเตรียมเปิด "ศูนย์นิทราเวช" ตรวจผู้ป่วยจิตเวชมีปัญหาการนอน เริ่มปี 62

หลังคาแดงเตรียมเปิด "ศูนย์นิทราเวช" ตรวจผู้ป่วยจิตเวชมีปัญหาการนอน เริ่มปี 62

กรมสุขภาพจิตเตรียมเปิด "ศูนย์นิทราเวช" ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ปี 2562 ตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติมผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาการนอน มีเครื่องตรวจคลื่นสมองช่วยในการประเมินอาการและวิจัยผู้ป่วยจิตเวชที่มีความผิดปกติทางสมองหรือผู้ป่วยโรคสมองอื่นๆ

วันนี้ (31 ก.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ว่า สถาบันฯ มีการปรับเปลี่ยนระบบบริการ จัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมเป็นมิตร ให้เกียรติผู้ป่วยทุกจุดบริการ ที่นั่งรอรับบริการมีความสุขสบายขึ้นกว่าเดิม ลดและขจัดตราบาปผู้ป่วย ให้บริการอบอุ่น ลดขั้นตอนให้กระชับขึ้น จากการสอบถามผู้ใช้บริการรายเก่าที่แผนกผู้ป่วยนอกพบว่ามีความพึงพอใจได้รับบริการเร็วขึ้น ได้รับยากลับบ้านหลังตรวจรักษาแล้วภายใน 75 นาที ส่วนการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังพ้นภาวะวิกฤต ดำเนินการทั้งผู้ป่วยในและดำเนินการในรูปแบบของโรงพยาบาลกลางวัน ฟื้นฟูผู้ป่วยที่อาการทางจิตทุเลาแล้วแบบเช้าเย็นกลับวันละ 30-35 คน ออกแบบการดูแลเหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะรายเช่นเดียวกับต่างประเทศ เน้นความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิมของผู้ป่วย จนผู้ป่วยมีอาการหายขาดหรือทุเลา เป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งกาย ใจ จิต สังคมและวิญญาณ มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจ มีความหวัง สามารถกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข และไม่กลับมาป่วยซ้ำอีก

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิตจะให้เป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ระดับประเทศขนาด 500 เตียง โดยในปีนี้ได้เปิดคลินิกฟื้นฟูความจำในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งชนิดทั่วไปและสมองเสื่อมที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และในปีหน้าหน้าเตรียมเปิดศูนย์นิทราเวช หรือ ศูนย์การนอนหลับ (Sleep Lab) สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม ศูนย์นี้จะมีการประเมินทั้งระบบหัวใจโดยตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรืออีเคจี (Electrocardiography:EKG) และจัดซื้อเครื่องตรวจคลื่นสมองหรืออีอีจี (Electroencephalography : EEG) และตรวจการหายใจขณะนอนหลับ เป็นแห่งเดียวและแห่งแรกของกรมสุขภาพจิต ซึ่งจะมีประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยประเมินอาการและวิจัยในผู้ป่วยจิตเวชที่มีความผิดปกติทางสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการชัก หรือผู้ป่วยโรคสมองอื่นๆ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้อย่างแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษายิ่งขึ้น คาดว่าจะเปิดบริการในต้นปีหน้า ขณะนี้ได้เตรียมอุปกรณ์และบุคลากรไว้พร้อมแล้ว

นพ.นพดล วาณิชฤดี ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ในปีนี้สถาบันฯได้ร่วมกับสถาบันวิชาการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 50 ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยมหิดล 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างกลไกการอักเสบในร่างกายกับการเกิดโรคจิตเภท 2. การวัดการทำงานของสมองเกี่ยวกับความคิดความจำของผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้เกิดความเสื่อมทางสมอง ทำให้ความคิด ความจำบกพร่อง และวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศรีธัญญา คือ.การศึกษาปัจจัยทำนายความพิการยาวนานในผู้ป่วย จิตเภท ใช้เวลา 2 ปี ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยจิตเภทในอนาคตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2561 มีผู้ป่วยใช้บริการที่สถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ มากขึ้น โดยที่แผนกผู้ป่วยนอก มีผู้ใช้บริการรวม 130,000 คน ส่วนใหญ่มาจากเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 24 และมีผู้ป่วยในนอนพักรักษาและฟื้นฟูรวม 140,000 คน เฉลี่ยวันละ 487 คน

1 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1251

 

Preset Colors