02 149 5555 ถึง 60

 

ยัน กัญชา ทางการแพทย์ไม่หยุดแค่ 3 กลุ่มโรค ทยอยประกาศใช้เพิ่มได้ หากมีหลักฐานชัด

ยัน กัญชา ทางการแพทย์ไม่หยุดแค่ 3 กลุ่มโรค ทยอยประกาศใช้เพิ่มได้ หากมีหลักฐานชัด

"หมอโสภณ" ยัน "กัญชา" ทางการแพทย์ ไม่หยุดแค่ 3 กลุ่มโรค ชี้หากมีหลักฐานชัดประกาศเพิ่มเติมได้ ไม่มีการปิดกั้น เล็งแบ่งกลุ่มใหม่ โรคที่มีหลักฐานชัด โรคที่เป็นไปได้ และโรคที่ต้องวิจัยใหม่ "หมอสมศักดิ์" ยังห่วงการใช้กัญชาในเด็ก อาจกระทบพัฒนาการ พ่วงโรคทางจิตเวช เหตุยังขาดข้อมูลประกอบพิจารณา

ความคืบหน้ากรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย เสนออีก 4 กลุ่มอาการที่ควรใช้ "กัญชา" ในการรักษา เพิ่มเติมจาก 3 โรคที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าใช้กัญชารักษาได้คือ คลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งรับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (31 ก.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสนอโรคที่ควรใช้กัญชารักษาเพิ่มเติมอีก 4 กลุ่มอาการนั้น อาจจะกังวลว่า คณะกรรมการฯ จะประกาศให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เฉพาะ 3 กลุ่มโรคที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้วเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าเรายังไม่ได้ประกาศว่าจะให้ใช้แค่ 3 กลุ่มโรคนี้ และไม่ได้ปิดกั้นหากจะเสนอโรคอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งก็เป็นหน้าที่คณะทำงานเพื่อพิจารณานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ที่มี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ เป็นประธาน ที่จะต้องพิจารณา เพราะจริงๆ แล้วจะใช้กัญชาแค่ 3 กลุ่มโรคตนก็มองว่าไม่เพียงพอ เพียงแต่ช่วงแรกจะประกาศออกมาให้ใช้กี่โรคก่อนก็ได้ ถือเป็นผลดีต่อผู้ป่วยทั้งนั้น ส่วนโรคอื่นๆ หากมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนก็สามารถทยอยประกาศตามออกมาได้ ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด

"ที่ผ่านมาอาจจะแบ่งแค่เพียงกลุ่มที่มีหลักฐานชัดเจนและกลุ่มที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะหยาบเกินไป เพราะกลุ่มที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมนั้นกว้างมาก ส่วนตัวมองว่า อาจจะต้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีหลักฐานข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้วว่าใช้ได้ 2.กลุ่มโรคที่เป็นไปได้ที่จะใช้กัญชา ที่พอมีผลวิจัยในมนุษย์อยู่บ้าง เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน ซึ่งมีการใช้ในมนุษย์อยู่แล้ว ก็อาจจะให้อยู่ในกลุ่มนี้ โดยมีการใช้และเก็บข้อมูลระยะยาวว่าเป็นอย่างไร หากเห็นผลชัดเจนก็ดันเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือมีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน หรือหากไม่ได้ผลก็เลิกใช้ไป และ 3.กลุ่มที่ต้องไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยอาจจะต้องไปศึกษาสัตว์ทดลองก่อน เช่น การฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นต้น เพราะอย่างใช้เพื่อบรรเทาคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมีบำบัด เรารู้ว่าต้องใช้กัญชาขนาดเท่าไร แต่รักษามะเร็งเลยยังไม่รู้ขนาด ผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ อาจจะต้องไปเริ่มใหม่" นพ.โสภณ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า เราเปิดรับหมดในการพิจารณาโรคที่จะนำกัญชามาใช้ อย่างทั้ง 4 กลุ่มอาการหรือโรคที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสนอมาก็พร้อมนำมาพิจารณา เพียงแต่บางส่วนยังห่วงในเรื่องของการนำมาใช้กับเด็ก เพราะกัญชามีผลต่อพัฒนาการ และเรื่องการใช้กับโรคทางด้านจิตเวช ซึ่งตรงนี้ยังต้องรอข้อมูลจากทางกรมสุขภาพจิตก่อน เพื่อประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการฯ วันที่ 15 ส.ค. นี้ จะมีการเสนอเพิ่มกรรมการในการพิจารณานำกัญชามาใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย อีก 3 ท่าน คือ ผู้แทนจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็ง และ สมาคมโรคอายุรกรรมประสาท สำหรับเรื่องน้ำมันกัญชารักษามะเร็งนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติอยู่ระหว่างการศึกษา 2 เรื่อง คือ 1.น้ำมันกัญชาที่ใช้รักษาคลื่นไส้อาเจียนตอบสนองกับโรคมะเร็งมากน้อยแค่ไหน และ 2.การทดลองระดับเซลล์มะเร็งและในสัตว์ทดลอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาการทั้ง 4 กลุ่มที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสนอเพิ่มเติม คือ 1.อาการแข็งเกร็งจากเส้นเลือดตันหรือแตก ความผิดปกติที่ระดับของไขสันหลัง 2.อาการปวดอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งหรือปลอกประสาท เช่น ข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ที่ต้องใช้ยาระงับปวดอย่างรุนแรง 3.การรับประทานอาหารไม่ได้จากโรคทางกายและทางจิต และ 4.โรคทางสมอง เช่น พาร์กินสัน และอัลไซเมอร์

1 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1175

 

Preset Colors