02 149 5555 ถึง 60

 

แนะสถาบัน เพื่อน ญาติ ใช้หลักปฐมพยาบาลทางใจ ช่วยนศ.มีปัญหา

แนะสถาบัน เพื่อน ญาติ ใช้หลักปฐมพยาบาลทางใจ ช่วยนศ.มีปัญหา

กรมสุขภาพจิต แนะสถาบันการศึกษา เพื่อนใกล้ชิด ญาติ ใช้ "หลักปฐมพยาบาลทางใจ" ช่วยนศ.ที่มีปัญหา!!

กรมสุขภาพจิต แนะการช่วยเหลือป้องกันนักศึกษาฆ่าตัวตายอย่างทันการ ให้สถาบันการศึกษาและเพื่อนชั้นเรียน รวมทั้งญาติ ใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจขั้นต้นคือ สอดส่องมองหา รับฟังปัญหาอย่างใส่ใจและหาสาเหตุ โดยไม่ตัดสิน ชี้สัญญานอาการที่บ่งบอกว่าเครียดและต้องเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็ว ได้แก่ เหม่อลอย เก็บตัว ไม่ร่าเริง มาเรียนสายหรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเน้นย้ำมูลเหตุการฆ่าตัวตาย เกิดได้จากหลายเหตุ สื่อมวลชนไม่ควรด่วนสรุป

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตายว่าว่า นิสิต นักศึกษาที่มีปัญหาเครียด มีสิทธิที่จะได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำ จากอาจารย์ที่ปรึกษาหรือจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเชื่อว่าในมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้จัดเตรียมช่องทางการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวไว้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากนิสิต นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น จะเดินเข้าไปหาช่องทางช่วยเหลือดังกล่าว อาจไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะช่วยเหลือได้ไม่ทันการ

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้ อาจต้องใช้วิธีการเชิงรุกเพิ่มขึ้น โดยนำหลักของการปฐมพยาบาลทางใจมาใช้ ซึ่งมี 3 ส.คือ สอดส่องมองหาใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง นักศึกษาที่มีความเครียดหรือคิดวนเวียนเกี่ยวกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียน ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติได้แก่ อาจมีลักษณะเหม่อลอย เก็บตัว แยกตัว ไม่ร่าเริงแจ่มใสสนุกสนานเหมือนเดิม มาเรียนสาย หรือไม่เข้าเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว ผู้ใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรืออาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งญาติด้วย ต้องเข้าไปพูดคุยโดยเร็ว ร่วมกันหาสาเหตุด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย รับฟังปัญหาอย่างใส่ใจ โดยไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก ให้การช่วยเหลือให้คำปรึกษาหรือส่งต่อผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที โดยสามารถใช้บริการจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญปรึกษาปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่มีคนคอยใส่ใจช่วยเหลือ จะช่วยคลี่คลายทุกข์หรือปมที่มีในใจของนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหาให้เบาบางขึ้น และจะช่วยให้มีการทบทวน ไม่วู่วาม มีสติแก้ไขปัญหาดียิ่งขึ้น และไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอีกต่อไป ซึ่งจะสามารถป้องกันการแก้ปัญหาในทางที่ผิดไม่ว่าเป็นจะการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย หรือใช้สิ่งเสพติดแก้ปัญหาได้ด้วย

อย่างไรก็ดี อยากวอนสื่อมวลชนว่าในการนำเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของนักศึกษา หรือวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนก็ตาม ไม่ควรด่วนตัดสินว่าเกิดจากสาเหตุใดอย่างทันทีทันใด เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องและเป็นสาเหตุได้ เช่น ปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ เป็นต้น จึงควรให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญหาสาเหตุตามหลักวิชาการ และไม่ควรลงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโดยละเอียด เพื่อป้องกันการเลียนแบบในผู้ที่กำลังมีปัญหา ทั้งนี้เพื่อช่วยกันสร้างระบบการแก้ไขป้องกันที่มีประสิทธิภาพในอนาคต นายแพทย์ณัฐกรกล่าว

6 August 2561

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 444

 

Preset Colors