02 149 5555 ถึง 60

 

ห่วง “เด็กพิเศษวัยรุ่น” มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะ ทำคู่มือเลี้ยงดูช่วยพ่อแม่

ห่วง “เด็กพิเศษวัยรุ่น” มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะ ทำคู่มือเลี้ยงดูช่วยพ่อแม่

เผยแพร่: 12 ส.ค. 2561 15:48 ปรับปรุง: 13 ส.ค. 2561 08:45 โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต ห่วง เด็กพิเศษเข้าสู่วัยรุ่น แสดงพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะ จิตแพทย์เผย 3 พฤติกรรมทางเพศผิดปกติที่พบบ่อย ทั้งช่วยตัวเอง เล่นอวัยวะเพศที่สาธารณะ กอดสัมผัสเพศตรงข้าม แนะพ่อแม่ครูดูแล ยึดหลัก 5 ต้อง 1 อย่า พร้อมจัดทำคู่มือสอนเรื่องเพศเด็กพิเศษ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มเด็กพิเศษเป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา แต่เด็กจะมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเหมือนเด็กปกติ ดังนั้น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น คือ อายุ 9-15 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ผู้หญิงจะมีรอบเดือน ผู้ชายจะมีเสียงแตก มีขนขึ้นตามร่างกาย แต่เด็กมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและขาดความรู้ความเข้าใจ อาจมีผลให้มีพฤติกรรมแสดงออกทางเพศไม่เหมาะสม ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานร้อยละ 30-44 จะเริ่มเมื่ออายุ 9 ขวบ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ปกครองและครู กรมฯ จึงให้สถาบันราชานุกูล จัดทำคู่มือเพศศึกษาในกลุ่มเด็กพิเศษ เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงทางเพศ รู้วิธีการจัดการดูแลปัญหาพฤติกรรมทางเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เด็ก และลดความเสี่ยงการถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า พฤติกรรมทางเพศ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ พฤติกรรมทางเพศที่พบได้บ่อยในเด็กพิเศษ มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. พฤติกรรมช่วยตนเอง พบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิง 2.พฤติกรรมการสัมผัสอวัยวะเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นอวัยวะเพศในที่สาธารณะ และ 3.พฤติกรรมการแสดงออกเพศตรงข้ามถึงความพึงพอใจ เช่น การกอดสัมผัส โดยพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติจะพบมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีระดับไอคิวที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้วย หรือพบในเด็กที่มีภาวะออทิสติกในระดับรุนแรง การดูแลพฤติกรรมทางเพศของเด็กกลุ่มนี้ จึงแนะนำให้ผู้ปกครองใช้หลักต้อง 5 และ อย่า 1

พญ.มธุรดา กล่าวว่า หลักต้อง 5 เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องทำ ได้แก่ 1.ต้องแนะนำช่วยเหลือเด็กเรื่องการดูแลตนเองและให้การวางตัวทางเพศเหมือนกับเด็กปกติทั่วไป 2.ต้องให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กทำตาม เช่น การแต่งตัวที่มิดชิด ไม่ล่อแหลม 3.ต้องมีกฎเกณฑ์จัดการปัญหาอย่างชัดเจนและเด็ดเดี่ยว เช่น บอกว่าห้ามเล่นก็คือห้ามเล่น ให้เด็กเกิดการเรียนรู้และปรับลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาให้หมดไป 4.ต้องอดทนใจเย็น อดทนต่อพฤติกรรมทางเพศของลูกที่อาจเกิดซ้ำๆ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลา และ 5.ต้องปรึกษาและบอกครูที่โรงเรียน เพื่อให้ช่วยกันเฝ้าระวังดูแล แต่ต้องไม่ใช่เป็นการจ้องจับผิด ควรหากิจกรรมเสริมให้เด็กทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกไปทางอื่น ส่วน 1 อย่า คือ อย่าใช้อารมณ์จัดการปัญหาพฤติกรรมทางเพศของลูก เช่น ใช้การลงโทษรุนแรง ทุบ ตี ดุด่าว่ากล่าว เพราะยิ่งจะทำให้เด็กต่อต้านซึ่งไม่เกิดการเรียนรู้ที่ดี การจัดการปัญหาต้องทำด้วยความใจเย็น ใจแข็ง และอดทน ต้องค่อยๆ ปรับแก้ทั้งการเสริมและการเติมสิ่งที่จำเป็นเพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

“การป้องกันปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กพิเศษที่ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก เช่นวัยเด็กเล็ก พ่อแม่ควรสอนให้รู้จักใช้ห้องน้ำ รู้จักเพศของตัวเอง ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมตัวไม่เดินแก้ผ้า ช่วงวัยเด็กโต ควรสอนเรื่องการเข้าหาผู้อื่นที่ถูกต้องเหมาะสม เล่นกับเพื่อนในโรงเรียนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สอนให้รู้ความแตกต่างของเพศหญิงชาย สอนให้ใช้ห้องน้ำสาธารณะให้เป็น โดยผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถดาวน์โหลดคู่มือนี้ ซึ่งจัดทำ 2 ฉบับคือฉบับผู้ปกครอง และฉบับของครู ได้ฟรีที่ WWW.rajanukul.go.th” พญ.มธุรดา กล่าว

14 August 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon

Views, 9367

 

Preset Colors