02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กไทยติดจอหนัก 46% เคยถูกแกล้งทางออนไลน์

เด็กไทยติดจอหนัก 46% เคยถูกแกล้งทางออนไลน์

เด็กไทยติดจอหนัก 46% เคยถูกแกล้งทางออนไลน์ : รายงาน โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ qualitylife4444@gmail.com

เด็ก Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและดิจิทัล อุปกรณ์สื่อสารแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 เพราะเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่โลกโซเชียลที่ขาดไม่ได้ เด็กติดกับดักกับชีวิตของโลกเสมือน ที่มีแต่ด้านดีๆ จนบางคนไม่อาจยอมรับกับสภาพชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงได้ เช่นนี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ไม่ใช้ชีวิตติดจอ ติดโซเชียล

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิธรรมดี ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดตัวโครงการ “ไทยแลนด์ ซูเปอร์ แคมป์” (Thailand Super Camp) กิจกรรมค่ายเยาวชนแห่งการพัฒนาตัวเอง ภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมายด์เซตคุณธรรมเด็กไทย 5.0 ด้วยการปรับกระบวนทัศน์ทั้ง 5 ข้อ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา รับผิดชอบ

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง และเมื่อดูพฤติกรรมเด็กเยาวชนในรุ่น Gen Z จากสรุปข้อมูลการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยในรอบปี 2017 ของบริษัท โธธ โซเชียล จำกัด พบว่า วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น สาเหตุมาจากต้องการหนีพ่อแม่ที่คอยส่องเฟซบุ๊กลูก ติดตามศิลปินดาราที่ชื่นชอบทั้งไทยและเกาหลี

นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบว่า 95% เด็กเยาวชนตระหนักดีว่าอินเทอร์เน็ตมีอันตราย 70% รู้ว่าเพื่อนออนไลน์ไม่พูดความจริง แต่ก็พบว่า เด็กเยาวชนเกือบครึ่ง หรือ 46% เคยถูกแกล้งทางออนไลน์

“เด็กไทยก็เหมือนเด็กทั่วโลกเมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีก็ทำให้เขาใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แม้เขาจะรู้ในอันตราย หรือเด็กเกือบครึ่งเคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือที่เราเรียกว่าดราม่า เป็นภัยใกล้ตัวมาจากข้อมูลที่ไม่ได้ถูกกลั่นกรอง แต่เขาก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสาเหตุที่เด็กติดจอไม่ใช่มาจากตัวเด็กเองทั้งหมด ยังมีปัจจัยสภาพแวดล้อม พ่อแม่ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าสังคมในการติดต่อเพื่อน และแสดงตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าจะปรับพฤติกรรมเด็กนั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนตั้งแต่พ่อแม่ โรงเรียน ชุมชน รัฐบาล ร่วมกันสร้างเกราะป้องกันฝึกทักษะการเท่าทันสื่อให้แก่เด็ก โดยดึงส่วนดีของเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อุดช่องโหว่ให้เด็กไม่หลงลืมตัวตน” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สังคมบนโลกออนไลน์ที่ส่วนใหญ่เลือกจะนำเสนอบางแง่มุมด้านดีของตัวเองหรือจัดฉากเพื่อนำเสนอชีวิตที่ดี เช่น การโพสต์ภาพมื้ออาหารสุดหรู ไปเที่ยว ใช้ของราคาแพง หรือการใช้แอพพลิเคชั่นแต่งรูปก่อนโพสต์ สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนสังคมที่เน้นค่านิยมทางวัตถุ และจะส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ หรือมีการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่นำเสนอชีวิตในโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กห่างไกลจากการติดจอ เป็นที่มาที่ สสส.ร่วมกับเครือข่ายจัดกิจกรรมไทยแลนด์ ซูเปอร์ แคมป์ นำเด็กเข้าสู่กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเด็กติดเกม เด็กติดโซเชียล ที่จิตแพทย์ต้องดูแลมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงเวลาเรื่องนี้ส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ทั้งปัญหาการเรียน พฤติกรรมทางเพศ ทักษะการเข้าสังคมไม่ดี การขัดแย้งในสังคม

ผลกระทบจากปัญหาเด็กเกมหรือติดโซเชียลนั้นคล้ายกันคือ การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานๆ แต่เด็กติดโซเชียลจะมีปัญหาเรื่องของอารมณ์ ขาดการยอมรับและนับถือตนเอง (Self-esteem) ทำให้เด็กรู้สึกว่าด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบ ระหว่างชีวิตตนเองและชีวิตเพื่อนในสังคมออนไลน์

ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าจากโลกเสมือนจริงขึ้นได้ บางคนก็มีภาวะหลงตัวเอง จากการได้รับการตอบสนองเชิงบวกที่ได้จากยอดไลก์ในสื่อโซเชียล ขณะที่เด็กติดเกมนั้น จะมีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่ฉุนเฉียว ก้าวร้าวรุนแรง แต่ปลายทางส่งผลให้เด็กไม่ประสบความสำเร็จทั้งในการศึกษา เจ็บป่วยโรคทางกาย ได้แก่ โรคอ้วน นอนไม่หลับ การเจริญเติบโต ปัญหาทางอารมณ์

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องเร่งพัฒนาสมองส่วนหน้า หรือเรียกว่าสมองซีอีโอ ที่ต้องคิดวิเคราะห์ มองเหตุและผล การควบคุมอารมณ์ ความจำ การมีสมาธิที่ดี แต่หากสมองส่วนนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ก็จะทำเด็กไม่รู้จักอดทน รอคอย ควบคุมตนเองไม่ได้ ขาดวินัย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้จะเน้นทำอะไรตามความสนุกและความสุข ไม่ควรไปคิดว่าเขาจะต้องคิดได้เองว่าไม่ควรเล่นเกม เล่นโซเชียล

ดังนั้น หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือต้องเป็นสมองส่วนหน้าให้แก่ลูก ต้องกำหนดกติกาและระยะเวลาในการใช้งาน การพูดคุยทำความเข้าใจแก่ลูกว่าไม่ควรมีอุปกรณ์เหล่านี้ในห้องนอน และหากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทน เพื่อลดเวลาการติดหน้าจอ เช่น ให้เขารับผิดชอบงานบ้าน การออกกำลังกาย

ส่วนถ้าเด็กที่เข้าข่ายต่อต้านกับกติกาที่พ่อแม่กำหนดและมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง แนะนำว่าควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินรายละเอียดและหาทางช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งการพูดคุยกับเด็กที่มีการต่อต้านควรเข้าหาในลักษณะของการแสดงความเป็นห่วง และดึงมาพูดคุยเพื่อหาจุดกึ่งกลางที่พอใจร่วมกัน อย่าบังคับว่าต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพ่อแม่ก็มีภาวะติดโซเชียล หลายครอบครัวก็ผลักให้ลูกไปสู่สิ่งเหล่านี้เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาใช้โซเชียล เพราะฉะนั้น พ่อแม่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

20 August 2561

ที่มา คม-ชัด-ลึก

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2420

 

Preset Colors