02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต จัดแผนปฏิรูป 3 ปีข้างหน้า

กรมสุขภาพจิต จัดแผนปฏิรูป 3 ปีข้างหน้า

กรมสุขภาพจิต จัดแผนปฏิรูปหน่วยงานในสังกัดในช่วงพ.ศ. 2562-2564 เน้นหนักการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพิ่มความรวดเร็วบริการประชาชน และบูรณาการงานสุขภาพจิตเข้าสู่ทีมหมอครอบครัว เผยผลงานในรอบ 11 เดือนในปีงบประมาณ 2561 พบว่าบรรลุตามเป้า กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชโรคสำคัญและพบบ่อย 4 กลุ่มโรคคือโรคจิตเภท ซึมเศร้า สมาธิสั้น และออทิสติก เข้าถึงบริการการรักษาดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง เช่นมีประวัติทำร้ายผู้อื่น หลังจากได้รับการดูแลฟื้นฟูอย่างครบวงจร ร้อยละ 99 สามารถกลับไปอยู่บ้านโดยไม่ก่อความรุนแรงซ้ำใน 1 ปี

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ที่รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ อ.หยุหคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อบ่ายวันนี้ ( 30 สิงหาคม 2561)ว่า ในที่ประชุมวันนี้ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกรมฯทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จัดทำแผนปฏิรูปหน่วยงาน เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตประชาชนในช่วง 3 ปีข้างหน้าพ.ศ. 2562-2564 โดยเน้น 3 เรื่อง ได้แก่1. การจัดทำฐานข้อมูลการส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวช 2. การลดขั้นตอนบริการ เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การใช้คิวออนไลน์ การใช้หุ่นยนต์จัดยา เป็นต้น และ3. การสร้างศักยภาพโรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และบูรณาการงานสุขภาพจิตเข้าสู่บริการทีมหมอครอบครัวทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2561 และสามารถลงมือปฏิบิติไปตามแผนได้เลย

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 11 เดือนของปีงบประมาณ 2561 ได้ติดตามใน 2 เรื่อง ประการแรกคือการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อพัฒนาระบบบริการประชาชนเป็นเงิน 3,158 ล้านกว่าบาท ขณะนี้การเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่กำหนด ประการที่ 2 คือการจัดบริการประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้เน้นการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยจิตเวชให้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่พบบ่อย 4 โรค มีผลบรรลุเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ กลุ่มผู้ใหญ่ 2 โรคคือโรคซึมเศร้าที่มีผู้ป่วยประมาณ 1.5 ล้านคน ขณะนี้เข้าถึงการรักษาแล้วร้อยละ 60 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 55 ผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งประมาณการทั่วประเทศมีประมาณ 4 แสนคน ขณะนี้เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 78 ส่วนอีก 2 โรคในกลุ่มเด็ก ได้เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองทั้งในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน พบว่าให้ผลดีขึ้น เรื่อยๆ โดยเด็กออทิสติก เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 44 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ11 เด็กที่เป็นสมาธิสั้นเข้าถึงบริการร้อยละ 14 สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 9 ซึ่งเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ หากเข้าสู่ระบบบริการและได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือได้เร็วเท่าใด ยิ่งจะเป็นผลดี เด็กจะมีอาการดีขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน และเสี่ยงก่อความรุนแรง เช่นเคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ได้รับการดูแลครบวงจรจากโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ ทั้งรักษาด้วยยา การปรับด้วยไฟฟ้า และการฟื้นฟูสมรถภาพทั้งด้านกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณจากทีมสหวิชาชีพ พบว่า ได้ผลดีมาก ผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้านและในชุมชนโดยไม่ก่อความรุนแรง สร้างความปลอดภัยให้ชุมชนติดต่อกันใน 1 ปี ร้อยละ 99 หยุดเสพยาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือนได้ร้อยละ 98.99

สำหรับกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 4 ล้านคน เน้นให้เด็กมีพัฒนาสมวัย ซึ่งจะมีผลต่อไอคิว การเรียนรู้ของเด็กในอนาคตด้วย ผลดำเนินการทั่วประเทศพบว่า ได้ดำเนินการกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่สงสัยว่าล่าช้า ซึ่งส่วนใหญ่ จะล่าช้าด้านการพูด และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยับจับ โดยใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐานพบว่ามีเด็กมีพัฒนาการกลับมาสมวัยได้ร้อยละ 67 – 98 ส่วนในเด็กวัยเรียน ในรายที่มีระดับไอคิวที่ต่ำกว่าค่าปกติคือ 90 จุด ได้รับการดูแลช่วยเหลือย่างต่อเนิ่องร้อยละ 83 ซึ่งในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการสำรวจระดับไอคิวเด็กชั้นประถถมศึกษาปีที่1 ทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะทราบผลในเดือนกันยายน 2561

31 August 2561

ที่มา บ้านเมือง

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 1133

 

Preset Colors