02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์คาด “ศิลปิน” ฆ่าตัวตายสูง เหตุเก็บกดความเครียด ต้องยิ้มแย้มเสมอ หวั่นลอกเลียนแบบ 14 เท่า

จิตแพทย์คาด “ศิลปิน” ฆ่าตัวตายสูง เหตุเก็บกดความเครียด ต้องยิ้มแย้มเสมอ หวั่นลอกเลียนแบบ 14 เท่า

คิมจงฮยอน ศิลปินเกาหลีที่ฆ่าตัวตาย และล่าสุด เก๋ เลเดอเรอร์ นางแบบเซ็กซี่ที่ฆ่าตัวตายเช่นกัน

คิมจงฮยอน ศิลปินเกาหลีที่ฆ่าตัวตาย และล่าสุด เก๋ เลเดอเรอร์ นางแบบเซ็กซี่ที่ฆ่าตัวตายเช่นกัน

จิตแพทย์คาด “ศิลปิน” ฆ่าตัวตายสูง เหตุเป็นอาชีพเก็บกดความเครียด ต้องแสดงออกถึงความสุขเสมอ คนเข้าใจความเจ็บปวดน้อย ห่วงเกิดการลอกเลียนแบบ 14 เท่า “อาต้อย” ชี้ ศิลปินอาวุโสไม่ค่อยฆ่าตัวตาย มองตัวเองมีศักยภาพ

นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานสัมมนาการป้องกันการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 12 หลังมีคำถามถึงข่าวการฆ่าตัวตายของศิลปินนักแสดงจำนวนมาก โดยเฉพาะศิลปินเกาหลี ว่า ตนไม่ได้เป็นศิลปิน แต่พอจะเข้าใจได้ว่า ทุกงานทุกอาชีพมีความเครียดทั้งหมด เนื่องจากทุกงานมีความคาดหวัง มีเป้าหมายที่ต้องทำ อย่างศิลปินนักแสดงก็มีความหนักในการทำงาน เพราะต้องซ้อม ต้องถ่ายทำอะไรต่างๆ มากมาย บางทีฉากในละครคือตอน 1 ทุ่ม แต่ถ่ายจริงตอนตีสาม ต้องมานั่งยิ้มแสดงอารมณ์กันตอนเวลานี้ หรือต้องถ่ายทำให้เสร็จให้ทันภายในเวลาอันสั้น ก็ถือเป็นความลำบาก และก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้ แต่คนทั่วไปอาจคิดหรือไม่ค่อยรู้ว่า ศิลปินมีความเครียด เพราะจะดูยิ้มแย้มกันตลอดเวลา

“ผมมองว่า อาชีพบันเทิงไม่ได้สบายอย่างที่เราคิด ที่เห็นยิ้มแย้มมีความสุขนั้น เบื้องหลังกว่าจะมาถึงจุดนี้ก็คงเครียดเหมือนงานอื่นๆ สิ่งที่อาชีพศิลปินแตกต่างจากอาชีพอื่น คือ ศิลปินต้องยิ้มแย้มมีความสุขทุกเวลา เนื่องจากความพยายามที่ทำให้ดูมีความสุขต่อหน้าคนอื่น จึงทำให้เลือกวิธีเก็บความรู้สึก อารมณ์เยอะ ไม่สามารถบอกได้ว่า กำลังเครียด กำลังรู้สึกแย่กับเพลงที่ร้อง ตรงนี้เป็นสมมติฐานของตน ว่า เป็นอาชีพที่ให้ใครรู้ว่าทุกข์ไม่ได้ ไปสัมภาษณ์ก็ต้องยิ้ม คนจึงเข้าใจความเจ็บปวดของศิลปินน้อย” นพ.อัศวิน กล่าว

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง วิดีโอ แม้กระทั่งตัวอักษรล้วนทำให้เกิดการลอกเลียนแบบวิธีการฆ่าตัวตายได้ทั้งสิ้น ที่น่าห่วงคือการฆ่าตัวตายของศิลปิน เซเลบริตี คนมีชื่อเสียงทำให้เกิดการลอกเลียนแบบสูงถึง 14 เท่า ปัญหาคือทุกวันนี้ทุกคนสามารถเป็นเซเลบริตีได้ มีคนติดตามได้มากเพียงแค่มีการถ่ายทอดสดบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวที่จะทำให้เกิดการลอกเลียนแบบมาก ไม่เฉพาะกลุ่มเปราบางเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ แต่คนทั่วไปที่บอกว่ามีวิจารณญาณในการติดตามข่าวสารก็เสี่ยงรับวิธีการฆ่าตัวตายเหล่านี้ไว้ในใจโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นจึงอยากขอความร่วมมือไม่ประชาชนไม่เป็นผู้เผยแพร่ ส่งต่อการฆ่าตัวตายออกไป

ด้าน นายเศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ และประธานมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส กล่าวว่า ทุกอาชีพมีความเครียดเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าจะคนรวย คนจน จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าศิลปินทำไมถึงมีการฆ่าตัวตายมากกว่า แต่อาชีพศิลปินเป็นที่สนใจ ไม่ว่าจะทำอะไร ป่วยเจ็บก็มีข่าว จึงทำให้ดูเหมือนมีการฆ่าตัวตายมาก เพราะคนสนใจแล้วไปโฟกัส อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศิลปินนักแสดงอาวุโสนั้น มูลนิธิฯ จะคอยดูความเป็นอยู่ ความลำบากยากแค้น และโรคภัยไข้เจ็บ แต่เราไม่มีคนที่จะคอยเข้าไปเฝ้าดูแลขนาดนั้น สิ่งที่เราช่วยได้ คือ ช่วยให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ศิลปินนักแสดงอาวุโสเหล่านี้ทุกคนก็มีญาติพี่น้อง ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า ศิลปินรุ่นนี้ไม่ค่อยมีใครฆ่าตัวตาย แม้จะแก่มากแล้ว เขายังอยากดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งตนคิดว่า ปัจจัยที่ทำให้เขาไม่ฆ่าตัวตาย เพราะเขามองว่าตนเองเป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญ มีชื่อเสียง เคยมีแฟนคลับเยอะ ก็คิดว่าคนยังชอบเขาอยู่ เวลาเดินไปที่ไหนก็มีคนจำได้ เดินเข้ามาทักทาย สวัสดี แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้ว

นายเศรษฐา กล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มนักแสดงอาวุโส เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายนั้น หากดำเนินการเชื่อมโยงศิลปินต่างๆ เป็นเครือข่าย มาทำกิจกรรมกันได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าทำ แต่ขณะนี้ยังทำอะไรกันไม่ได้ เพราะศิลปินบ้านเรามีหลายแขนงก็จะจับตัวกันเป็นแขนงๆ ไป แต่ตนมองว่า สิ่งที่รวบรวมจิตใจไว้ได้ คือ งานจิตอาสา ซึ่งตอนนี้ศิลปินเข้ามาสมัครกันเยอะ และมีหลากหลายอาชีพหลายหน่วยงานที่เข้ามาสมัครด้วย ตรงนี้ก็จะช่วยได้ เพราะการได้ทำอะไรในสิ่งที่ดี เขาจะรู้สึกดีกับตัวเอง โดยเฉพาะงานของพระองค์ท่าน ก็เป็นวิธีสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจทางหนึ่ง ลดปัญหาการทำร้ายหรือฆ่าตัวตายได้

10 September 2561

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 640

 

Preset Colors